ผลสำรวจเคพีเอ็มจี: ผู้บริหารธุรกิจยานยนต์มองว่าอุตสาหกรรมจะเติบโต แม้ว่าจะยังมีความท้าทายเรื่องห่วงโซ่อุปทาน และการขาดแคลนแรงงาน

ผลสำรวจเคพีเอ็มจี: ผู้บริหารธุรกิจยานยนต์มองว่าอุตสาหกรรมจะเติบโต แม้ว่าจะยังมีความท้าทายเรื่องห่วงโซ่อุปทาน และการขาดแคลนแรงงาน

ผลสำรวจของเคพีเอ็มจีพบว่าผู้บริหารอุตสาหกรรมยานยนต์มั่นใจว่าอุตสาหกรรมยานยนต์จะยังคงเติบโต และมีผลกำไรต่อเนื่องในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยที่ส่วนแบ่งตลาดจากยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles – EV) จะเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญภายในปี 2573 และในขณะเดียวกันก็มีข้อน่ากังวลในด้านห่วงโซ่อุปทาน และการขาดแคลนแรงงาน

รายงาน Annual Global Automotive Executive Survey ครั้งที่ 22 ของเคพีเอ็มจีได้ทำการสำรวจผู้บริหารในอุตสาหกกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องทั้งหมด 1,118 ราย พบว่าร้อยละ 53 มั่นใจว่าอุตสาหกรรมยานยนต์จะมีผลกำไรเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีเพียงร้อยละ 38 ที่มีความกังวลเรื่องการทำกำไร อีกทั้ง พบว่าผู้บริหารสูงสุดขององค์กร (CEO) จำนวน 372 ราย มีความมั่นใจในด้านต่าง ๆ นอกเหนือจากความสามารถในการทำกำไร เช่น ความสามารถของอุตสาหกรรมยานยนต์ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

“เป็นเรื่องน่ายินดีที่เราได้เห็นมุมมองด้านบวกต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์” แกรี่ ซิลเบิร์ก หัวหน้าฝ่ายยานยนต์ เคพีเอ็มจี กล่าว “ผู้ผลิตยานยนต์แทบจะไม่เคยเผชิญการเปลี่ยนแปลงในด้านเทคโนโลยี และรูปแบบธุรกิจที่มากเช่นนี้มาก่อนตั้งแต่อุตสาหกรรมยานยนต์เริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 130 ปีก่อน ไม่ว่าจะเป็นแท็กซี่บินได้ บริการเช่ารถระยะยาว สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงและมีอยู่อย่างแพร่หลาย อีกทั้ง บริษัทเทคโนโลยีที่เข้ามาเป็นผู้เล่นในอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งหมดนี้คือการพัฒนาบางส่วนที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในอีก 10 ปีข้างหน้า”

ห่วงโซ่อุปทานที่เปราะบางและการขาดแคลนแรงงาน
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกอย่างจะราบรื่น ผู้บริหารยังคงมีข้อกังวลในอีกหลายประเด็นที่ส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทาน ทั้งในด้านราคา และความสามารถในการจัดหาส่วนประกอบในการผลิตยานยนต์ที่สำคัญต่าง ๆ ที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยผู้บริหารกว่าร้อยละ 50 มีความกังวลมากถึงมากที่สุดเกี่ยวกับการจัดหาส่วนประกอบที่สำคัญที่มีอยู่อย่างจำกัดเหล่านี้ อีกทั้ง ผู้บริหารร้อยละ 55 ยังมีข้อกังวลมากถึงมากที่สุดในด้านการขาดแคลนแรงงาน

“องค์กรมีความพร้อมในการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่มีความยืดหยุ่น และเตรียมรับมือกับการขาดแคลนแรงงานแล้วหรือไม่ คำถามเหล่านี้เป็นเรื่องที่ผู้บริหารต้องเร่งหาแนวทางในการดำเนินการ” ซิลเบิร์ก กล่าว “ผู้ประกอบการต่างแข่งขันกันเพื่อช่วงชิงพนักงานที่มีศักยภาพสูงทั้งจากภายใน และภายนอกอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยอีกหลายปีนับจากนี้เราจะได้เห็นผู้บริหารทุ่มเทเวลาเพื่อเร่งแก้ปัญหาที่เกิดจากความเสี่ยงเหล่านี้”

EVs กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น
ผู้บริหารต่างคาดการณ์ว่าส่วนแบ่งตลาดของ EV จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีส่วนแบ่งตลาดเป็นเท่าใด

ความนิยมในการใช้ EV ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับการลงทุนในสถานีชาร์จไฟฟ้า ซึ่งผู้บริหารร้อยละ 77 คาดการณ์ว่าผู้บริโภคจะต้องการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้เวลาน้อยกว่า 30 นาทีในการชาร์จไฟระหว่างการเดินทาง ซึ่งสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่ใช้เวลามากกว่า 3 ชั่วโมง

นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังพบว่าความนิยมในการใช้ EV ขึ้นอยู่กับราคา EV ที่จะเท่ากับราคารถยนต์เครื่องยนต์สันดาป (Internal combustion engines) ที่ใช้กันอยู่ทั่วไปในปัจจุบันในช่วงใด ซึ่งโดยส่วนใหญ่เชื่อว่าจะมีการใช้งาน EV อย่างแพร่หลายได้แม้ว่าจะไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล (ร้อยละ 77) แต่เกือบทั้งหมดยังคงสนับสนุนให้มีโครงการช่วยเหลือจากภาครัฐ (ร้อยละ 91)

การเพิ่มขึ้นของผู้เล่นรายใหม่และการก้าวสู่ยุคดิจิทัล
อุตสาหกรรมเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมยานยนต์กำลังหล่อหลอมรวมกัน ซึ่งนำไปสู่พันธมิตรและผู้เล่นรายใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยผู้บริหารเชื่อว่าบริษัทเทคโนโลยีจะเข้ามาเป็นผู้เล่นสำคัญในอุตสาหกรรมยานยนต์

นอกจากนี้ ร้อยละ 78 ของผู้บริหารเห็นด้วยว่าในอีกไม่กี่ปีที่จะถึงวิธีการซื้อขายรถยนต์จะมีการเปลี่ยนแปลงไป โดยเชื่อว่าภายในปี 2573 รถยนต์ส่วนใหญ่จะถูกซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ และประมาณสามในสี่คาดการณ์ว่ารถยนต์มากกว่าร้อยละ 40 จะถูกซื้อขายโดยตรงจากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภค โดยไม่ผ่านคนกลาง

จากการก้าวเข้าสู่ e-commerce ผู้บริหารคาดการณ์ว่าผู้ผลิตรถยนต์จะใช้ประโยชน์จากข้อมูลปริมาณมหาศาลที่มี โดยร้อยละ 43 คาดการณ์ว่าผู้ผลิตรถยนต์จะขายข้อมูลเหล่านี้ให้กับบริษัทประกันภัยรถยนต์

ในปี 2562 ประเทศไทยผลิตรถยนต์ได้มากกว่า 2 ล้านคัน ซึ่งมากกว่าครึ่งเป็นรถยนต์ที่ถูกส่งออก อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงทำให้อัตราการผลิตรถยนต์ลดลงอยู่ที่เพียง 1.4 ล้านคันในปี 2563 และในจำนวนนั้นมีประมาณ 700,000 คันที่ถูกส่งออก

“จากการคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการเปิดประเทศ เราคาดหวังว่าจะได้เห็นอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยฟื้นตัวกลับมา” ธิดารัตน์ ฉิมหลวง หัวหน้าฝ่ายอุตสาหกรรมการผลิต เคพีเอ็มจีประเทศไทย กล่าว “และจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ เราคาดว่าจะเห็นการผลิต EV ที่เพิ่มขึ้น โดยส่วนหนึ่งมาจากแรงผลักดัน และการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับผู้ประกอบการในห่วงโซ่ EV ซึ่งรวมถึงนักลงทุนในด้านต่างๆ โดยการเพิ่มขึ้นของ EV นี้ จะนำมาซึ่งการลงทุนในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ของประเทศไทย อีกทั้ง ยังเป็นการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่จุดมุ่งหมายในการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ (net zero emissions)”

ที่มา: เคพีเอ็มจี ประเทศไทย