เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) หรือ ABeam Thailand บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำในเครือบริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ประกาศการเป็นสมาชิกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย โดยมีเป้าหมายในการสนับสนุนให้บริษัทต่าง ๆ มีการเปิดตัวและขยายธุรกิจด้าน EV ในประเทศไทยรวมทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้แผนการเข้าเป็นสมาชิกดังกล่าว ABeam มีแผนที่จะให้ความรู้เกี่ยวกับผลการวิจัยล่าสุดและแนวโน้มของตลาดในภูมิภาคที่จะขับเคลื่อนธุรกิจที่เกี่ยวกับ EV ในทุกส่วนของห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การกระจายสินค้าไปจนถึงภาคการผลิตของประเทศไทย โดย ABeam เล็งเห็นว่าประเทศไทยอยู่ในตำแหน่งของตลาดที่ดีที่สุดในภูมิภาค ทั้งภาคอุปสงค์และอุปทาน EV ในอนาคต
นายอิชิโร ฮาระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทที่ปรึกษาระดับโลก ซึ่งเป็นผู้ให้บริการที่มีความเชี่ยวชาญด้านการปรับเปลี่ยนองค์กรธุรกิจในรูปแบบดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ในเครือบริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง จำกัด ประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ABeam Thailand ได้ประกาศการเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) ในเดือนพฤษภาคม 2564 นี้ โดย ABeam จะเข้าร่วมหารือกับผู้นำธุรกิจ OEM รายใหญ่ เกี่ยวกับอนาคตของภูมิภาคในการให้บริการดิจิทัลโซลูชั่น คำแนะนำเชิงกลยุทธ์ และข้อมูลเชิงลึก เกี่ยวกับแนวโน้มด้านดิจิทัลล่าสุด รวมถึงพฤติกรรมของลูกค้า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพของภาคยานยนต์ไทย
ABeam เองได้มีการทำการวิจัยทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อวิเคราะห์และจัดอันดับความก้าวหน้าของภาคยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ หรือ BEV (Battery Electric Vehicle) ของตลาดอาเซียน ทั้งในด้านอุปสงค์อย่างความต้องการของตลาดและอุปทานอย่างการวางแผนในการผลิตและนโยบายในการสนับสนุน ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จสำหรับผู้บริโภค โดยประเทศไทยได้กลายเป็นผู้นำอย่างชัดเจนในเกือบทุกหมวดที่ได้รับการประเมินภายในภูมิภาค โดยได้อันดับสูงสุดด้านอุปทานของ BEV จะเป็นรองแค่เพียงสิงคโปร์ในแง่ของการจัดอันดับอุปสงค์เท่านั้น
ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (BEVs) กำลังค่อยๆ ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในประเทศไทย โดยมีรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่จดทะเบียนสะสมในประเทศไทยจำนวน 2,202 คันในปี 2563 และมีการเติบโตแบบปีต่อปีอยู่ที่ประมาณ 90% และ คาดว่าจะมีตัวเลขที่เพิ่มมากขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยมีผู้ผลิตรถยนต์หลายรายที่กำลังเดินหน้าเข้าสู่ตลาดยานยนต์ไฟฟ้า เช่น MG และ Great Wall Motors เป็นต้น
รัฐบาลไทยเองก็มุ่งมั่นที่จะผลักดันให้ประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางของยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน ด้วยแนวคิดในการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ หรือ Low Carbon Society โดยตั้งเป้าว่าจะมีจำนวนรถยนต์ที่ปราศจากการปล่อยมลพิษ หรือ Zero Emission Vehicles หรือ ZEV ซึ่งรวมถึงรถยนต์นั่งส่วนบุคคล BEV ที่ใช้กระแสไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ในการขับเคลื่อนอย่างเดียว และ FCEV ที่ใช้เทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงในการขับเคลื่อน รวม 2,050,000 และ 6,400,000 คัน บนท้องถนนภายในปี 2573 และ 2578 ซึ่งคิดเป็น 11% และ 31% ของจำนวนรถยนต์ทั้งหมดโดยประมาณตามลำดับ ในแง่ของจำนวนรถยนต์ทั้งหมด มีเพียงสิงคโปร์เท่านั้นที่มีเป้าหมายที่จะครอบคลุมมากกว่าประเทศไทย โดยตั้งเป้าไปที่ประมาณ 30% ภายในปี 2573 ทั้งๆที่ขนาดของตลาดและพื้นที่ที่เล็กกว่า
ในด้านของสถานีอัดประจุไฟฟ้า แผนของรัฐบาลไทยก่อนปี 2558 คือจะมีจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับ EV จำนวน 690 แห่งภายในปี 2579 เพื่อส่งเสริมการใช้งาน EV ทั้งนี้ คาดว่าตัวเลขจะแซงหน้าในไม่ช้า เนื่องจากปัจจุบันมีสถานีอัดประจุไฟฟ้า อยู่แล้วถึง 637 แห่ง ณ เดือนมีนาคม 2564 ซึ่งถ้านับจำนวนหัวชาร์จทั้งหมด ประเทศไทยจะมีจำนวนมากเป็นอันดับสองในอาเซียนรองจากสิงคโปร์ด้วยจำนวนหัวชาร์จที่ต่างกันเพียงไม่กี่จุด (ประเทศไทย 1,974 สิงคโปร์ 2,408 จุด)
ในแง่ของการผลิต EV ในประเทศไทย ผู้ผลิตอย่าง FOMM และ Takano มีกำลังการผลิตอยู่แล้วโดยประมาณ 10,000 และ 800 คันต่อปี ตามลำดับ โดยในอนาคตอันใกล้นี้จะมีกำลังการผลิตรวมกันขยายเพิ่มถึง 90,000 คันต่อปี ทันทีที่ SAIC (MG), Great Wall Motor และ Mine Mobility เริ่มการผลิต จากเป้าหมายในการผลิตรถยนต์ไร้มลพิษให้ได้ 1,350,000 คัน ภายในปี 2578 ซึ่งจะคิดเป็น 50% ของยานยนต์ทั้งหมดที่ผลิตในเวลานั้น ในขณะที่รัฐบาลอินโดนีเซียตั้งเป้าจะผลิตให้ได้เพียง 600,000 คัน ภายในปี 2573 ส่วนการผลิตของประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนถูกกำหนดโดยผู้ผลิตร่วมกับ Vinfast ของเวียดนาม ซึ่งคาดว่าจะมีกำลังการผลิต 250,000 คัน ภายในปี 2568
“ในไม่ช้าประเทศไทยจะได้รับการยอมรับในการเป็นผู้นำตลาด EV ที่แข็งแกร่ง จากมุมมองของอุปสงค์และอุปทาน ทั้งการนำเสนอรุ่นรถยนต์ EV ที่หลากหลายอยู่แล้ว การมีผู้เล่นใหม่ที่แข็งแกร่งจากประเทศจีน ด้วยเป้าหมายที่ชัดเจนจากภาครัฐในด้านการผลิตและความพร้อมด้านสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่เกินเป้าหมาย ส่งผลให้ไทยก้าวไปอีกขั้น เรามองไปที่ตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ เช่น อินโดนีเซียและเวียดนามด้วยเช่นกัน แต่สิ่งที่ทุกประเทศมีเหมือนกันคือ ต้องปรับการคิดและปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งรูปแบบธุรกิจโดยรวมใหม่ ยานยนต์ไฟฟ้าคืออนาคต แต่กำลังจะเป็นตัวสร้างการเปลี่ยนแปลง (Disruptor) ห่วงโซ่คุณค่าของตลาดในประเทศเหล่านั้น การเป็นสมาชิก EVAT ของ ABeam และการเป็นพันธมิตรด้านการเคลื่อนไหวอื่น ๆ ที่มีอยู่จะช่วยให้เราสามารถให้คำแนะนำเชิงกลยุทธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งในด้านการปรับตัวทางดิจิทัล ตลอดจนมุมมองทางธุรกิจ” นายโจนาธาน วาร์กัส รูอิซ หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ยานยนต์อาเซียน บริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวสรุป
ที่มา: แอบโซลูท พีอาร์