โฟตอน มอเตอร์ ผนึก คัมมินส์ ผู้ผลิตเครื่องยนต์ดีเซลชั้นนำของโลก เปิดโรงงาน “โฟตอน คัมมินส์ เอ็นจิ้น” ในไทย

โฟตอน มอเตอร์ ผนึก คัมมินส์ ผู้ผลิตเครื่องยนต์ดีเซลชั้นนำของโลก เปิดโรงงาน “โฟตอน คัมมินส์ เอ็นจิ้น” ในไทย

โฟตอน มอเตอร์ (Beiqi Foton) จับมือ คัมมินส์ (Cummins) แบรนด์เครื่องยนต์ดีเซลชั้นนำของโลก ขยายตลาด จัดตั้ง “บริษัท โฟตอน คัมมินส์ เอ็นจิ้น (ประเทศไทย) จำกัด” (Foton Cummins Engine (Thailand) Co., Ltd.) ณ นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ชลบุรี เพื่อเป็นโรงงานผลิตเครื่องยนต์สำหรับรถเพื่อการพาณิชย์ “โฟตอน” ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อกระบวนการผลิตที่มีคาร์บอนต่ำ ปกป้องสิ่งแวดล้อม พร้อมส่งมอบเครื่องยนต์ Foton Cummins ลำดับที่ 600,000 สำหรับส่งออก โดยใช้ไลน์การผลิตในโรงงานดังกล่าว นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของ “โฟตอน คัมมินส์” ในตลาดต่างประเทศ สะท้อนความสัมพันธ์ไทย-จีนอันแน่นแฟ้น และศักยภาพด้านอุตสาหกรรมการผลิตของจีน พร้อมส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีและพัฒนาฝีมือแรงงานไทย ทั้งนี้ ได้มีการส่งมอบเครื่องยนต์ล็อตแรกจาก โฟตอน คัมมินส์ ประเทศไทย ให้กับ โฟตอน ซีพี (Foton CP) ในพิธีเปิดโรงงานดังกล่าวอีกด้วย

นายเฉิน เจี้ยน ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ปักกิ่ง โฟตอน คัมมินส์ เอ็นจิ้น จำกัด เผยว่า “โฟตอน คัมมินส์ เอ็นจิ้น (ประเทศไทย) เป็นหนึ่งในผลลัพธ์อันมีประสิทธิผลจากความร่วมมือระหว่าง “โฟตอน มอเตอร์ กรุ๊ป” และ “คัมมินส์” ที่ยาวนานถึง 17 ปี เพื่อวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์และเครื่องยนต์ชั้นนำ โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตอัจฉริยะระดับโลกที่เรียกว่า “The Lighthouse Factory” ตามแบบของโรงงานโฟตอน คัมมินส์ ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูงในการส่งมอบโซลูชันด้านพลังงานที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ผลิตยานยนต์กว่า 100 ประเทศทั่วโลก โดยเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนกลยุทธ์การขยายธุรกิจไปทั่วโลกของ โฟตอน มอเตอร์ กรุ๊ป ที่เริ่มการส่งออกรถ “โฟตอน” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 จนถึงปัจจุบันรวมแล้วกว่า 130 ประเทศ และครองอันดับหนึ่งของการส่งออกรถยนต์เชิงพาณิชย์ของจีนเป็นเวลา 14 ปีติดต่อกัน ด้วยคุณภาพดีเยี่ยมและบริการที่เชื่อถือได้ ทำให้ โฟตอน มอเตอร์ ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากลูกค้าทั่วโลก”

โรงงาน โฟตอน คัมมินส์ เอ็นจิ้น (ประเทศไทย) ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2566 และเสร็จสมบูรณ์พร้อมเปิดดำเนินการภายในเวลาเพียง 1 ปี ใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์ป้องกันสิ่งแวดล้อมขั้นสูงเพื่อให้กระบวนการผลิตคาร์บอนต่ำ ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อม ในฐานะที่เป็นตัวแทนของ Made in China ในต่างประเทศ จะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานด้านการผลิตของ โฟตอน มอเตอร์ ด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างแข็งขัน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการปกป้องสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการจ้างงาน

นายเจสัน หวัง รองประธานและผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายธุรกิจเครื่องยนต์คัมมินส์ในประเทศจีน กล่าวว่า จากความร่วมมือดังกล่าว ทำให้ โฟตอน คัมมินส์ สามารถทำตลาดทั้งในประเทศจีนและตลาดต่างประเทศได้เป็นอย่างดีตลอดมา อีกทั้งปริมาณการส่งออกเครื่องยนต์ทั่วโลกต่างเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ดังนั้นการเปิดตัวสายการผลิตเครื่องยนต์ Foton Cummins ลำดับเครื่องที่ 600,000 ในพิธีฉลองการเปิดโรงงาน “โฟตอน คัมมินส์ เอ็นจิ้น” ในประเทศไทย จึงไม่เพียงตอกย้ำความสามารถในการแข่งขันของ โฟตอน คัมมินส์ ในตลาดโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนถึงความสำเร็จอันโดดเด่นในด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีอีกด้วย

“เครื่องยนต์ Foton Cummins เป็นผลิตภัณฑ์ดาวเด่นของโลก ได้รับความไว้วางใจและการสนับสนุนจากผู้ใช้มากกว่า 2.6 ล้านคนทั่วโลก ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่บรรลุด้านคุณภาพผลิตภัณฑ์และเทคนิคชั้นนำในระดับนานาชาติเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้นำสูงสุดของเครื่องยนต์ในโลกด้านความน่าเชื่อถือ ประหยัดเชื้อเพลิง ปล่อยมลพิษต่ำ ประสิทธิภาพแข็งแกร่ง บำรุงรักษาง่าย เสียงรบกวนน้อย และปกป้องสิ่งแวดล้อม โดยได้แสดงให้เห็นถึงความได้เปรียบที่เป็นเอกลักษณ์ของบริษัทจีนในแง่ของระดับการบริการลูกค้า และความรวดเร็วในการตอบสนองตลาด” นายเจสัน หวัง กล่าวย้ำ

นางสาวเจนจิรา แย้มยิ้ม กรรมการผู้จัดการ บริษัท อมตะ ซัมมิท เรดดี้ บิลท์ จำกัด ในฐานะผู้แทนจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “โรงงานโฟตอน คัมมินส์ เอ็นจิ้น ในประเทศไทยจะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ในพื้นที่ ทั้งในด้านการสร้างบุคลากรที่มีความสามารถทางเทคนิคคุณภาพสูง การแลกเปลี่ยนทางเทคนิคและการฝึกอบรม รวมทั้งเป็นสะพานเชื่อมระหว่างจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการแลกเปลี่ยนในภูมิภาค”

การก่อตั้งโรงงาน โฟตอน คัมมินส์ เอ็นจิ้น ในประเทศไทย นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างจีนและไทยในหลายด้าน ตั้งแต่การท่องเที่ยว การผลิต ไปจนถึงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ และได้กลายเป็นความสำเร็จอีกหนึ่งเรื่อง ภายใต้โครงการ “การริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” หรือ “One Belt, One Road Initiative” ของจีน ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์ร่วมกันต่อทั้งสองฝ่ายแล้ว ยังช่วยเติมพลังใหม่ให้กับการบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาคและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอีกด้วย