รถติดกรุงเทพฯ โซเชียลแชร์ 5 แยกสุดโหด เลี่ยงได้เลี่ยง!

รถติดกรุงเทพฯ โซเชียลแชร์ 5 แยกสุดโหด เลี่ยงได้เลี่ยง!

ปัญหารถติดในกรุงเทพมหานครเป็นปัญหาเรื้อรังที่สั่งสมมานาน ในฐานะที่เป็นเมืองหลวงซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและคมนาคมของประเทศ กรุงเทพฯ กำลังเผชิญกับวิกฤตการจราจรที่มากขึ้นทุกวัน ผลการศึกษาจากศาสตราจารย์ Francesca Gino ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เผยให้เห็นว่า การใช้เวลาเดินทางนานกว่า 38 นาที สามารถส่งผลกระทบเชิงลบต่อคุณภาพชีวิตอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อนำข้อมูลนี้มาวิเคราะห์ร่วมกับสภาพการจราจรในกรุงเทพฯ ที่ผู้คนต้องใช้เวลาเดินทางเฉลี่ยมากกว่านั้นหลายเท่า จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นการระบายความคับข้องใจผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่างต่อเนื่อง

บริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด ได้ทำการสำรวจการกล่าวถึงแยกจราจรในกรุงเทพมหานครที่สร้างปัญหาต่อการเดินทางมากที่สุด ผ่านทางการแสดงความคิดเห็นของชาวโซเชียล ในช่วงวันที่ 1-30 พฤศจิกายน 2567 โดยใช้เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูล DXT360 ซึ่งเป็นระบบติดตามและรวบรวมข้อมูลแบบครบวงจร ครอบคลุมทั้งโซเชียลมีเดียและสื่อดั้งเดิม (เว็บไซต์ข่าว โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร) พบ 5 แยกที่มีการร้องเรียนเรื่องรถติดมากที่สุดในกรุงเทพฯ

แยกอโศก – เพชรบุรีรถติดอันดับ 1

กรุงเทพมหานครประสบปัญหาการจราจรติดขัดในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วนทั้งเช้าและเย็น จุดที่พบปัญหาการจราจรติดขัดอย่างชัดเจนมักเป็นแยกสำคัญต่างๆ ดังนี้

แยกอโศก-เพชรบุรี ซึ่งเป็นจุดตัดของถนนสายหลักหลายเส้นและมีสัญญาณไฟจราจรหลายจุด ทำให้เกิดการสะสมของปริมาณรถจำนวนมาก นอกจากนี้ยังเป็นแยกที่ได้รับการร้องเรียนผ่านสื่อสังคมออนไลน์สูงที่สุด (41.5%)

ห้าแยกลาดพร้าว ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์การค้าขนาดใหญ่ จึงมีปริมาณรถหนาแน่นตลอดทั้งวัน และเป็นแยกที่ได้รับการร้องเรียนมากเป็นอันดับสอง (18.0%)

แยกพระราม 9 (17.8%) และ แยกสาทร-สุรศักดิ์ (15.9%) ซึ่งตั้งอยู่ในย่านธุรกิจที่มีอาคารสำนักงานและสถานศึกษาจำนวนมาก ได้รับการร้องเรียนเป็นอันดับที่สามและสี่ตามลำดับ

แยกประตูน้ำ (6.1%) ซึ่งเป็นศูนย์กลางใจกลางเมืองที่มีห้างสรรพสินค้าและแหล่งชอปปิงหลายแห่ง ส่งผลให้เกิดการจราจรติดขัดอย่างหนาแน่น และได้รับการร้องเรียนเป็นอันดับสุดท้ายในบรรดาแยกที่มีปัญหามากที่สุด

สน.งานหนัก เคลียร์จราจร 5 แยกวิกฤต

การจัดการจราจรในกรุงเทพมหานครอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบหลักของกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) โดยมีสถานีตำรวจในแต่ละเขตพื้นที่ ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกและแก้ไขปัญหาการจราจร ซึ่งทำงานประสานกับหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการ

ประชาชนสามารถแจ้งปัญหาการจราจรได้ที่สถานีตำรวจในพื้นที่ที่พบปัญหา โดยแต่ละแยกสำคัญมีสถานีตำรวจที่รับผิดชอบ ดังนี้

  1. แยกอโศก-เพชรบุรี อยู่ในความดูแลของ สน.มักกะสัน
  2. ห้าแยกลาดพร้าว อยู่ในความดูแลของ สน.ลาดพร้าว
  3. แยกพระราม 9 อยู่ในความดูแลของ สน.ห้วยขวาง
  4. แยกสาทร-สุรศักดิ์ อยู่ในความดูแลของ สน.ยานนาวา
  5. แยกประตูน้ำ อยู่ในความดูแลของ สน.พญาไท

นอกจากนี้ การแก้ไขปัญหาจราจรอย่างยั่งยืนยังต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการขนส่งทางบก สำนักการจราจรและขนส่ง และกรุงเทพมหานคร

บทบาทของโซเชียลมีเดียในการรายงานสถานการณ์จราจร

สื่อสังคมออนไลน์อย่าง Facebook และ X (Twitter) เป็นอีกหนึ่งช่องทางสำคัญในการรับรู้สถานการณ์จราจรในกรุงเทพมหานคร เนื่องจากสามารถรายงานข้อมูลได้แบบทันที ทำให้ประชาชนรับทราบสภาพการจราจรติดขัดหรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการเดินทาง และสามารถวางแผนเลือกเส้นทางที่เหมาะสมได้ โดยเพจและแอคเคาท์ที่รายงานข้อมูลการจราจรอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาชน

เพจ Facebook และแอคเคาท์ที่ลงข่าวการจราจรมากที่สุด 5 อันดับแรก

  1. FM91 Trafficpro-สวพ.FM91 (26.6%)
  2. 1197สายด่วนจราจร (17.3%)
  3. JS100 Radio-จส.100 (15.1%)
  4. ถนนมิตรภาพ-รถติดบอกด้วย (6.6%)
  5. ร่วมด้วยช่วยกัน (4.2%)

ส่องวิธีแก้ปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ

กรุงเทพมหานครติดอันดับเมืองที่มีปัญหาการจราจรรุนแรงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ด้วยปัจจัยหลายด้านที่ทับซ้อนกัน ทั้งการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว การเพิ่มขึ้นของจำนวนรถยนต์ส่วนบุคคล การวางผังเมืองที่ขาดการวางแผนอย่างเป็นระบบ โครงสร้างถนนที่ไม่เอื้ออำนวย และระบบขนส่งสาธารณะที่ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ส่งผลให้ชาวกรุงเทพฯ ต้องเผชิญกับสภาพการจราจรที่ติดขัดอย่างหนักโดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน

ขณะที่หลายเมืองทั่วโลกก็เผชิญความท้าทายคล้ายกัน แต่หลายแห่งสามารถจัดการปัญหารถติดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทีม Insight ได้ศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาการจราจรที่ประสบความสำเร็จ โดยสามารถแบ่งได้เป็น 2 วิธีหลัก คือ

  1. ระบบขนส่งอัจฉริยะ (Intelligent Transport Systems) เป็นการบูรณาการเทคโนโลยีหลายรูปแบบ เช่น กล้องวงจรปิด และเซ็นเซอร์ตรวจวัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารสัญญาณไฟจราจร ซึ่งใช้ในหลายเมืองใหญ่ เช่น สิงคโปร์ ลอนดอน และอัมสเตอร์ดัม
  2. กลยุทธ์การบริหารความต้องการใช้งาน (Demand Management Strategies) เป็นการออกแบบนโยบายเพื่อควบคุมปริมาณยานพาหนะบนท้องถนน เช่น
  • การจัดช่องทางพิเศษสำหรับรถโดยสารสาธารณะ (Bus Lanes) ในลอนดอน
  • การเพิ่มค่าใช้จ่ายสำหรับรถยนต์ส่วนตัวเพื่อส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เช่น
    • ระบบ Electronic Road Pricing ในสิงคโปร์
    • ระบบ Congestion Charge Zone ในลอนดอน ที่เก็บค่าธรรมเนียมพิเศษสำหรับการเข้าพื้นที่ใจกลางเมืองที่มีการจราจรหนาแน่น

ร่วมมือกัน” คือ หนทางหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาจราจร

การแก้ปัญหาจราจรอาจไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเพียงงบประมาณหรือเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยเท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และที่สำคัญคือ ประชาชนที่ต้องเคารพกฎจราจร ซึ่งจะช่วยให้การจราจรคล่องตัวขึ้นและลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุที่จะยิ่งทำให้การจราจรติดขัด

ข้อมูลทั้งหมดที่นำมาวิเคราะห์หา Insight รวบรวมข้อมูลจาก DXT360 (Social Listening and Media Monitoring Platform) ของบริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด (dataxet:infoquest) โดยเก็บข้อมูลระหว่าง 1 พฤศจิกายน – 30 พฤศจิกายน 2567

เกี่ยวกับ DXT360

DXT360 เป็นแพลตฟอร์มที่สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลข่าวสารได้ทั้งจากโซเชียลมีเดีย สื่อออนไลน์ สื่อบรอดคาสท์ และสื่อสิ่งพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นเสียงของผู้บริโภค (Consumer Voices) คอนเทนต์จาก Influencers และ KOLs ไปจนถึงข่าวจากสื่อมวลชน ที่รวบรวมเข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์มเดียวกัน มีการนำเสนอข้อมูลในรูปแบบ Dashboard ที่สามารถปรับเปลี่ยนตามความต้องการของผู้ใช้งานแต่ละราย (Customizable Dashboard) จึงทำให้เข้าใจและเห็น Insight ในประเด็นต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังช่วยให้เห็นทิศทางการสื่อสารของแบรนด์ต่าง ๆ สามารถนำมาต่อยอดเพื่อพัฒนากลยุทธ์การสื่อสารขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ