ในยุคปัจจุบัน การดำเนินธุรกิจมักทำควบคู่ไปกับกิจกรรมเพื่อสังคม หรือกิจกรรม CSR (Corporate Social Responsibility) คือการที่องค์กรมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมและส่งเสริมสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดี สร้างความน่าเชื่อถือ และมุ่งสู่การขับเคลื่อนสังคมยั่งยืน เพราะท้ายที่สุด ธุรกิจจะสามารถเติบโตและดำรงอยู่ได้ ล้วนแล้วแต่ต้องพึ่งพาสังคมและทรัพยากรธรรมชาติ การรับผิดชอบและตอบแทนสังคม จึงกลายเป็นหนึ่งในนโยบายที่หลาย ๆ องค์กรต่างยึดถือปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง อันเป็นแนวคิดที่มองว่าถ้าสังคมอยู่รอด สิ่งแวดล้อมอยู่ได้ ธุรกิจก็จะได้ไปต่อนั่นเอง
บริษัท น้ำมันอพอลโล (ไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายน้ำมันหล่อลื่น ภายใต้แบรนด์ “Idemitsu” จากประเทศญี่ปุ่น ที่มุ่งสู่ความเป็นเลิศในด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงให้แก่ผู้บริโภค พร้อมกันนี้ยังยึดมั่นในแนวทางการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในทุกส่วนของการผลิต รวมถึงดูแลสิ่งแวดล้อมในด้านต่าง ๆ ทั้งคุณภาพอากาศ พลังงานสะอาด และระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิต ผ่านกิจกรรมเพื่อสังคม
บริษัท น้ำมันอพอลโล (ไทย) จำกัด กับความมุ่งมั่นที่จะสร้างความยั่งยืนแก่สังคมและสิ่งแวดล้อม
ที่ผ่านมา บริษัท น้ำมันอพอลโล (ไทย) จำกัด ได้ทำกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่องหลากหลายกิจกรรม เพื่อสนับสนุนความยั่งยืน รวมถึงมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน แสดงให้เห็นถึงแนวคิดที่ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม มีโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จในอดีต และโครงการที่กำลังดำเนินการในปัจจุบัน อันประกอบไปด้วย
“โครงการสร้างฝายชะลอน้ำ” ที่หน่วยพิทักษ์ป่าอ่างช้างน้ำ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เป็นกิจกรรมร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของบริษัท น้ำมันอพอลโล (ไทย) จำกัด ในปี 2559 กับการเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน และสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียง จนได้กลายเป็นหนึ่งในนโยบายที่บริษัทฯ ยึดถือปฏิบัติต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
“โครงการทูตมหาสมุทร” เป็นโครงการที่จัดขึ้นเมื่อปี 2562 เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีแห่งความสำเร็จ บริษัท น้ำมันอพอลโล (ไทย) จำกัด โดยโครงการนี้ได้ตอกย้ำความเป็นผู้นำอุตสาหกรรมน้ำมันหล่อลื่นในประเทศไทย มีการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในโครงการทูตมหาสมุทร (SOA: Sustainable Ocean Ambassador) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสมาคมการตลาดเกษตรและอาหารแห่งภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก (AFMA: Agricultural and Food Marketing Association for Asia and the Pacific) ในการอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลและแนวปะการัง
นอกจากนี้ “โครงการทูตมหาสมุทร” ยังร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการดำเนินการฟื้นฟูดูแลพันธุ์พืชใต้ทะเล บริเวณเกาะแสมสาร จังหวัดชลบุรี ด้วยการฟื้นฟูท้องทะเลและวางปะการังเทียมใต้ทะเลไปแล้วกว่า 120 ชิ้น เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัย ที่ป้องกันภัย แหล่งอาหาร และแหล่งแพร่พันธุ์ของสัตว์น้ำ
“โครงการ APT ร่วมใจอนุรักษ์ปลูกป่าทดแทน” เป็นโครงการที่ดำเนินการต่อเนื่องในหลายพื้นที่ และทำโครงการมาแล้วกว่า 5 ปี ตั้งแต่ปี 2562 โดยได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายผู้นำท้องถิ่น ชุมชนในพื้นที่ และหน่วยงานราชการ วัตถุประสงค์ของโครงการ คือเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ เพิ่มพื้นที่สีเขียว รวมถึงทดแทนปริมาณกระดาษที่บริษัทฯ นำมาใช้ หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตของบริษัทฯ ทั้งกล่องบรรจุผลิตภัณฑ์ หรือกระดาษที่ใช้ในสำนักงาน
สำหรับปริมาณการใช้กระดาษของบริษัทฯ ในปี 2022 มีน้ำหนักรวมอยู่ที่ 749,611 กิโลกรัม ในแต่ละปี บริษัทฯ จึงตั้งเป้าปลูกต้นไม้ไม่ต่ำกว่า 12,000 ต้น เป็นการทดแทนต้นไม้ที่สูญเสียไปในการผลิตกระดาษ ในส่วนของผลลัพธ์โครงการ นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก วัดได้จากการขยายพื้นที่สีเขียวที่เห็นเป็นรูปธรรมเพิ่มมากขึ้นทุกปี
และอีกโครงการที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง คือ “การจัดทำการประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร” มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดการปล่อย-เพิ่มการดูดกลับก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการปล่อยมลพิษจากภาคอุตสาหกรรมที่อาจเป็นอันตรายต่อชุมชนเมือง โดยสามารถทวนสอบผลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานขององค์กรได้
สำหรับ “การจัดทำการประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร” นับว่าเป็นแนวทางในการมุ่งสู่เป้าหมายขององค์กร เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 10% ภายในปีค.ศ. 2035 เป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปีค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปีค.ศ. 2065
ผลลัพธ์ของการจัดทำการประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร ทำให้บริษัท น้ำมันอพอลโล (ไทย) จำกัด ได้รับใบรับรองว่าเป็นองค์กรที่ได้ขึ้นทะเบียนและขอรับรองการแสดงปริมาณคาร์บอนฟุตพรินต์ ปี 2565 จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา เป็นไปตามข้อกำหนดและแนวทางการจัดการก๊าซเรือนกระจกในองค์กร โดยแสดงให้เห็นว่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบริษัท น้ำมันอพอลโล (ไทย) จำกัด อยู่ภายในเกณฑ์ที่กำหนด
มากกว่าภาพลักษณ์ คือความจริงใจในการรับผิดชอบต่อสังคม
ด้วยภาพจำเดิมของอุตสาหกรรมปิโตรเลียม คือต้นเหตุของปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นที่มาให้องค์ใหญ่ ๆ เริ่มหันมาปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำมันเครื่องให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อนำเสนอสินค้าคุณภาพสูง และมีประสิทธิภาพในการลดการก่อปัญหาสิ่งแวดล้อม ทว่าอีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ การดำเนินธุรกิจที่เล็งเห็นถึงความสำคัญในรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม มีส่วนร่วมกับชุมชน เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับสังคม และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค
ทำให้ บริษัท น้ำมันอพอลโล (ไทย) จำกัด ยึดมั่นดำเนินการในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด เพระปัญหาสิ่งแวดล้อมทำให้โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิต บริษัทฯ จึงถือว่านี่คือความท้าทายที่ต้องปรับเปลี่ยนเพื่ออนาคต ให้เติบโตและพัฒนาไปพร้อมกับธุรกิจ
ทำให้ บริษัท น้ำมันอพอลโล (ไทย) จำกัด มากด้วยรางวัลที่สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการรับผิดชอบต่อสังคม ร่วมรักษาสิ่งแวดล้อม และอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็น
- CSR-DIW Continuous Award 2023 รางวัลโครงการส่งเสริมโรงงานอุตสาหกรรมให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน เพื่อเป้าหมายการฟื้นฟูและยกระดับเศรษฐกิจและสังคม (CSR-DIW to COVID-19 Relief) ประจำปี 2566 จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม
- CSR-DIW Award 2018 รางวัลโครงการส่งเสริมโรงงานอุตสาหกรรมให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชนอย่างยั่งยืน ประจำปี 2561 จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม
- ธงธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม (ธงขาวดาวเขียว) ปี 2561 เป็นรางวัลที่มอบให้กับองค์กรที่สามารถรักษาระดับมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โดยยึดหลักธรรมภิบาลในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม
- CSR-DIW Award 2017 รางวัลโครงการส่งเสริมโรงงานอุตสาหกรรมให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชนอย่างยั่งยืน ประจำปี 2560 จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม
- AMATA BEST WASTE MANAGEMENT AWARDS 2016 GOLD LEVEL รางวัลโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการจัดการกากอุตสาหกรรมและมูลฝอยอย่างมีประสิทธิภาพ ระดับทอง ประจำปี 2559 โดยบริษัท อมตะ ฟาซิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด
- Green Industry รางวัลอุตสาหกรรมสีเขียว ระดับที่ 3 ระบบสีเขียว จัดโดยกระทรวงอุตสาหกรรม
ดังนั้น การดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม จึงไม่ใช่แค่เทรนด์หรือการทำเพื่อมุ่งส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่องค์กรเท่านั้น หากเป็นการลงทุนเพื่อมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นการประกอบธรกิจที่ตระหนักถึงการสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม และโลกใบนี้ มุ่งสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นจริง รวมถึงสามารถสร้างคุณค่าให้กับองค์กรและสังคมได้ในระยะยาว