ควันดำที่เกิดจากท่อไอเสียรถยนต์ดีเซลเต็มไปด้วยเหล่าสารพิษที่มีมากกว่า 100 ชนิด ซึ่งร้อยละ 90 ของควันดำมีขนาดเล็กกว่า 1 ไมครอน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 หากแพร่กระจายเข้าระบบทางเดินหายใจเข้าสู่ถุงลมในปอดและกระแสเลือดโดยตรง จะส่งผลเสียต่อร่างกายก่อให้เกิดโรคภัยต่าง ๆ ตามมา นอกจาควันดำแล้วการวัดระดับเสียงดังของรถที่ใช้งานให้อยู่ในกำหนดกฎหมาย ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่หลายฝ่ายต้องร่วมมือกันบริหารจัดการ เพื่อควบคุมและป้องกันไม่ให้เกิดมลพิษทางอากาศและทางเสียง จนส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ล่าสุดกรมควบคุมมลพิษ ร่วมมือกับสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ และกองบังคับการตำรวจจราจร จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ ประจำปี 2567 เพื่อเพิ่มศักยภาพการตรวจสอบตรวจจับและห้ามใช้รถยนต์ควันดำ การตรวจวัดระดับเสียงจากรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติงานของ บก.จร. และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 – 16 ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 โดยรถยนต์ที่จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตรวจพบรถยนต์มีมลพิษหรือเสียงดังเกินค่ามาตรฐาน จะสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองนำรถไปแก้ไขปรับปรุงเครื่องยนต์อุปกรณ์เพื่อให้ควันดำหรือระดับเสียง มีค่าไม่เกินมาตรฐาน และต้องนำรถมาให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ หากไม่ได้นำรถกลับมาตรวจสอบภายในกำหนดเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ถูกคำสั่ง ถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 65 มีโทษตามมาตรา 102 ปรับไม่เกิน 5,000 บาท
การตรวจวัดระดับเสียง ทางสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ได้พัฒนาเครื่องมือและซอฟต์แวร์เครื่องตรวจวัดระดับเสียงจากยานพาหนะ และนำมาใช้งานจริง เพื่อให้การปฏิบัติงานตรวจสอบตรวจวัดรถยนต์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สามารถวิเคราะห์ ประมวลผลได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ มีระบบการตรวจสอบย้อนกลับของข้อมูลที่ตรวจวัดได้
ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีร้องเรียนเรื่องรถยนต์และจักรยานยนต์แต่งซิ่ง ดัดแปลงสภาพ ทำให้เกิดมลพิษทางเสียงสร้างความเดือดร้อนรำคาญกับประชาชน โดยกรมควบคุมมลพิษได้ร่วมกับกองบังคับการตำรวจจราจร เพิ่มความเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมาย ตั้งจุดกวดขันจับกุมบริเวณที่มีการร้องเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยใช้เครื่องวัดระดับเสียงจากยานพาหนะที่สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ พัฒนาขึ้น สามารถอ่านค่าระดับเสียงแบบอัตโนมัติตามรอบของเครื่องยนต์ของรถแต่ละคันตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีความโปร่งใส เป็นธรรม และลดข้อโต้แย้งในการปฏิบัติ ซึ่งผลการจับกุมรถที่มีค่าเสียงเกินเกณฑ์ที่กำหนด ระหว่างเดือนมิถุนายน 2567 จนถึงปัจจุบัน จับกุมรถยนต์ 19 คัน รถจักรยานยนต์ 225 คัน ซึ่งมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 อัตราโทษปรับไม่เกิน 4,000 บาท และเจ้าหน้าที่จะออกคำสั่งห้ามใช้รถชั่วคราว ติดสติ๊กเกอร์เครื่องหมายคำสั่งห้ามใช้ชั่วคราวไว้ที่ตัวรถ ให้นำไปปรับปรุงแก้ไขท่อไอเสีย จากจำนวน ที่จับกุม 244 คัน แก้ไขแล้ว 115 คัน (ร้อยละ 47) ผลจากการปฏิบัติ ทำให้ลดปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้เป็นอย่างดี
สำหรับการตรวจสอบตรวจจับและห้ามใช้รถยนต์ควันดำ กรมควบคุมมลพิษมีการบูรณาการร่วมกับ กองบังคับการตำรวจจราจร กรมการขนส่งทางบก และ กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 31 กรกฎาคม 2567 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เรียกรถตรวจสอบทั้งหมด 103,349 คัน เป็นรถตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 จำนวน 54,949 คัน และรถตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 จำนวน 48,400 คัน พบรถยนต์ควันดำเกินมาตรฐานและออกคำสั่งห้ามใช้ยานพาหนะ จำนวน 1,023 คัน แก้ไขแล้ว 514 คัน (ร้อยละ 50) พื้นที่ต่างจังหวัด สำนักงานขนส่งจังหวัด ตรวจทั้งหมด 79,809 คัน เป็นรถตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 จำนวน 74,441 คัน และรถตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 จำนวน 5,368 คัน พบรถยนต์ควันดำเกินมาตรฐานและออกคำสั่งห้ามใช้ยานพาหนะ จำนวน 1,333 คัน แก้ไขแล้ว 921 คัน (ร้อยละ 69)
จะเห็นว่าการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหามลพิษจากควันดำและเสียงดังเกินมาตรฐาน ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่หากประชาชนผู้ใช้รถช่วยกันหมั่นตรวจสภาพการใช้งานสม่ำเสมอ ในระยะยาวคงทำให้ฝุ่น PM2.5 ต้นเหตุปัญหามลพิษทางอากาศรวมถึงมลพิษทางเสียงลดลงไปได้ ซึ่งจะช่วยปกป้องระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมไม่ให้ถูกทำร้ายไปมากกว่านี้