รศ.ดร.สุวิมล วงศ์สกุลเภสัช อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เปิดเผยถึง เทคโนโลยีสีเขียวสำหรับยานยนต์ ต้นแบบและเทคโนโลยีกระบวนการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงเหลวสังเคราะห์ ที่ตอบโจทย์การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นโครงการวิจัยที่ได้รับทุนจากหน่วยบริหารและจัดการด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เป็นทุนวิจัยประเภท สร้างเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (เชื้อเพลิงชีวภาพ วัสดุและเคมีชีวภาพ) จากกการเปลี่ยนผลผลิตทางการเกษตรหรือของเหลือทิ้งในกระบวนการผลิตหรือการบริโภคระยะเวลาโครงการ 2 ปี (2564-2566) มูลค่ารวมโครงการ 29 ล้านบาท
จุดเด่นของต้นแบบและเทคโนโลยีกระบวนการผลิตกระบวนการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงเหลวสังเคราะห์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตลอดกระบวนการ จะประกอบไปด้วย กระบวนการผลิตก๊าซไฮโดรเจนและก๊าซสังเคราะห์ กระบวนการฟิชเชอร์-โทรป (Fisher-Tropsch) กระบวนการผลิต Bio-hydrogenated diesel (BHD) สามารถตอบโจทย์เทคโนโลยีสีเขียวสำหรับยานยนต์ ถือเป็นหนึ่งในเชื้อเพลิงสะอาดที่ประยุกต์ใช้ในการคมนาคม นอกจากนี้ยังพบว่า น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพนี้มีค่าซีเทนที่สูงกว่าน้ำมันที่ได้จากน้ำมันดิบ และไม่ปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมเพราะมีองค์ประกอบของซัลเฟอร์ต่ำ สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเหลวสังเคราะห์นั้น สามารถผลิตได้จากก๊าซสังเคราะห์เป็นน้ำมันคุณภาพสูง น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ และน้ำมันเชื้อเพลิงเหลวสังเคราะห์นี้ สามารถใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลที่อาศัยหลักการอัดอากาศ และเชื้อเพลิงให้มีความดันสูงจนเชื้อเพลิงสามารถติดไฟได้
ด้วยเหตุนี้ งานวิจัยนี้ จึงมุ่งเน้นการพัฒนากระบวนการผลิตน้ำมันชีวภาพ โดยการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตตลอดทั้งกระบวนการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถตอบสนองความต้องการการใช้งานจริงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายของกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ ได้แก่ อุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมเคมี รศ.ดร.สุวิมล ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันปัญหาภาวะโลกร้อนที่เกิดเนื่องจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศได้รับความสนใจทั่วโลกการพัฒนากระบวนการผลิตสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากจะช่วยลดภาวะโลกร้อน แล้วยังสามารถลด PM 2.5 ได้อีกด้วย ซึ่งตอบโจทย์ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ต้นแบบและเทคโนโลยีกระบวนการผลิตกระบวนการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงเหลวสังเคราะห์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนี้ เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตในประเทศไทย สามารถช่วยลดการนำเข้าน้ำมันดีเซลและเพิ่มกำไรจากการเปลี่ยน waste เป็น high- value products ซึ่งช่วยส่งผลต่อเสถียรภาพด้านราคาพลังงานได้
อีกทั้งเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขันและวางรากฐานทางเศรษฐกิจที่ช่วยลดต้นทุน ถือเป็นทางเลือกใหม่ที่เหมาะสมที่ได้จากเทคโนโลยีกระบวนการผลิตกระบวนการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงที่สะอาด นอกจากนี้การพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศช่วยทำให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเพิ่มมากขึ้น ช่วยยกระดับรายได้แก่ประชาชนในพื้นที่ทั้งในทางตรงและทางอ้อม เพิ่มเสถียรภาพด้านราคาในอุตสาหกรรมน้ำมันและทางการเกษตร สอบถามรายละเอียดเพื่มได้ที่ รศ.ดร.สุวิมล วงศ์สกุลเภสัช ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) โทรศัพท์. 097-042-1315 หรือที่ e-mail: [email protected]
ที่มา: มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ