“ท่ามกลางสถานการณ์อันยากลำบาก เราสามารถบรรลุเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของปอร์เช่” Oliver Blume ซีอีโอ และ Lutz Meschke ซีเอฟโอ กล่าวแสดงความยินดีกับความสำเร็จด้านยอดขายในปี 2565
- ทุบสถิติใหม่ยอดขายเพิ่มขึ้นแตะ 37.6 พันล้านยูโรและผลกำไรจากการดำเนินงานกว่า 6.8 พันล้านยูโร
- สร้างสถิติใหม่สูงสุดเท่าที่เคยมีมา ด้วยยอดส่งมอบรถยนต์ใหม่ และเงินรายได้หมุนเวียนจากผลิตภัณฑ์ยานยนต์
- ผลประกอบการด้านยอดขายเพิ่มขึ้นจาก 16.0 เปอร์เซ็นต์ เป็น 18.0 เปอร์เซ็นต์
- ปอร์เช่เดินหน้าตามแผนกลยุทธ์ ตั้งเป้าผลประกอบการด้านยอดขายมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ในระยะยาว พร้อมแผนธุรกิจใหม่ “Road to 20 programme”
- ซีอีโอ Oliver Blume กล่าวว่า “ท่ามกลางสถานการณ์อันยากลำบาก ต้องขอขอบคุณทีมงานที่มีคุณภาพที่ทำให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของปอร์เช่”
- ซีเอฟโอ Lutz Meschke กล่าวว่า “ด้วยแนวทางธุรกิจ Road to 20 เรากำลังจะนำพาปอร์เช่มุ่งสู่การเป็น แบรนด์ที่เติบโต และแข็งแกร่งยิ่งกว่าที่ผ่านมา”
Dr. Ing. h.c. F. Porsche AG ส่งท้ายปีงบประมาณ 2565 ด้วยสถิติใหม่ถึง 4 ประการ รายได้จากการขายในปี 2565 มีมูลค่ากว่า 37.6 พันล้านยูโร คิดเป็นอัตราการเติบโต 13.6 เปอร์เซ็นต์ (ปี 2564 มีมูลค่า 33.1 พันล้านยูโร) ผลกำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ 6.8 พันล้านยูโร สูงกว่าสถิติเดิมของปีที่แล้วถึง 1.5 พันล้านยูโร (เพิ่มขึ้น 27.4 เปอร์เซ็นต์) ยอดส่งมอบรถยนต์ใหม่ และเงินเดินสะพัดจากผลิตภัณฑ์ยานยนต์ในปี 2565 ทำตัวเลขสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา ผลตอบแทนจากการดำเนินงานขายเพิ่มขึ้นจาก 16.0 เปอร์เซ็นต์ เป็น 18.0 เปอร์เซ็นต์ และในปีนี้บริษัทผู้ผลิตรถสปอร์ตที่ตั้งอยู่ในสตุ๊ทการ์ท กำลังผลักดันแผนกลยุทธ์ modern luxury และได้เริ่มต้นแนวทางธุรกิจ “Road to 20 programme” เพื่อบรรลุเป้าหมายผลกำไรในระยะยาว
“ท่ามกลางสถานการณ์อันยากลำบาก เราสามารถบรรลุเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของปอร์เช่ เรายังคงสามารถส่งมอบผลิตภัณฑ์ยานยนต์รุ่นใหม่อันน่าตื่นตาตื่นใจให้แก่ลูกค้าของเราได้อีกครั้งในปี 2565 นี่คือผลจากการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพของทีมงาน” Oliver Blume ประธานกรรมการบริหาร เล่าถึงผลงานอันน่าพึงพอใจ
Porsche AG สามารถบริหารและจัดการกับยอดจองรถยนต์ได้เป็นอย่างดี และยังสร้างตัวเลขยอดส่งมอบรถใหม่ส่งมอบลูกค้าได้สูงถึง 309,884 คัน ตลอดปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากสงครามที่เกิดขึ้นในประเทศยูเครน ความท้าทายจากวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า และปัญหาการขาดแคลน supply chain ทั่วโลก โดยยอดจำหน่ายดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนถึง 2.6 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2564 (ยอดจำหน่าย 301,915 คัน) ในปีงบประมาณ 2564 กระแสเงินสดสุทธิจากผลิตภัณฑ์ยานยนต์เพิ่มขึ้นจาก 3.7 พันล้านยูโร เป็น 3.9 พันล้านยูโร “องค์ประกอบความสำเร็จของเรามาจากการพัฒนา price positioning, ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์, ยอดขายรถยนต์ที่เพิ่มสูงขึ้น, ผลจากอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงิน และระเบียบวินัยการควบคุมต้นทุนอันเข้มงวดของเรา” ข้างต้นคือคำอธิบายจาก Lutz Meschke รองประธาน และสมาชิกคณะกรรมการบริหาร ผู้กำกับดูแลส่วนงานการเงิน และเทคโนโลยีสารสนเทศ
Road to 20 Programme ยกระดับปอร์เช่มุ่งสู่การเป็นแบรนด์ที่เติบโต และแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
ทีมงานของปอร์เช่ มุ่งมั่นพัฒนาเพื่อตั้งเป้าหมายระดับสูงต่อไปในอนาคต ในปี 2566 บริษัทได้เริ่มต้นดำเนินแผนธุรกิจ “Road to 20 programme” ซึ่งปอร์เช่มีเป้าหมายให้ได้ตัวเลขผลตอบแทนจากการดำเนินงานขายมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ในระยะยาว “ด้วยแผนธุรกิจ Road to 20 Programme เรากำลังจะนำพาปอร์เช่มุ่งสู่การเป็นแบรนด์ที่เติบโต และแข็งแกร่งยิ่งกว่าที่ผ่านมา และเรากำลังเดินหน้าเปลี่ยนแปลงทุกอย่างให้สดใหม่มีชีวิตชีวา เริ่มตั้งแต่ผลิตภัณฑ์รถยนต์ รวมทั้งโครงสร้างต้นทุนของเรา เราต้องการเพิ่มประสิทธิภาพของกำไรส่วนต่าง และสร้างเสริมความน่าสนใจให้แก่ผลิตภัณฑ์ของเรามากยิ่งขึ้น” Lutz Meschke กล่าว แผนธุรกิจ Road to 20 programme คือการดำเนินงานที่ต่อเนื่องจากความสำเร็จของแผนธุรกิจ Profitability Programme 2025 ซึ่งปอร์เช่กำหนดขึ้นเพื่อทำให้บริษัทมีความสามารถในการรับมือกับวิกฤติการณ์ต่างๆที่ถาโถมเข้ามาในช่วงเวลาก่อนหน้า
จากสถานการณ์ที่ดีเยี่ยม บริษัทผู้ผลิตรถสปอร์ตสัญชาติเยอรมนี ได้ประกาศถึงการก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2565 ด้วยการเสนอขายหุ้นแก่บุคคลทั่วไป หรือ IPO ที่ใหญ่ที่สุดในทวีปยุโรป (เมื่อพิจารณาในเชิงของมูลค่าตามราคาตลาด หรือ market capitalization) “ถึงขณะนี้เรากลายเป็นองค์กรที่ถูกจับตามองมากยิ่งขึ้น และเข้าถึงได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น การเข้าตลาดได้โดยอิสระนั้น ช่วยให้เราเพิ่มเติมเจ้าของกิจการได้อย่างเสรี เราจะสร้างเสริมความแข็งแกร่งโดยเน้นไปที่การเพิ่มมูลค่าในหน่วยงานธุรกิจที่เป็นหัวใจสำคัญ อาทิ เทคโนโลยี ซอฟแวร์ และแบตเตอรี่” Lutz Meschke กล่าว
ปอร์เช่ เพิ่มความสำคัญในการผลิตรถยนต์รุ่น limited editions และ Sonderwunsch programme
ปอร์เช่เดินหน้าสานต่อแผนกลยุทธ์ในแบบ modern luxury ตามรายงาน Luxury & Premium Report จากองค์กรที่ปรึกษาด้านการเงิน Brand Finance ปอร์เช่คือแบรนด์รถยนต์ระดับหรูที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก “เราผสมผสานความโดดเด่นของผลิตภัณฑ์ยานยนต์ ให้เป็นหนึ่งเดียวกับประสบการณ์เฉพาะตัวของผู้ขับขี่ รวมทั้งความรับผิดชอบที่เรามีต่อสังคม และเรากำลังขยายขอบเขตของผลิตภัณฑ์ด้วยรถสปอร์ตแนวคิดใหม่ และยังคงมุ่งเน้นไปที่รถยนต์รุ่น limited editions และรุ่นตกแต่งพิเศษ Sonderwunsch programme ที่จะออกมาในอนาคต เราต้องการตอบสนองความต้องการและไลฟ์สไตล์ของกลุ่มลูกค้าของเราให้มากกว่าปัจจุบันและอยู่เหนือความคาดหมายของพวกเขาทุกครั้ง” Oliver Blume กล่าว
ตอบโจทย์แผนกลยุทธ์ด้านยานยนต์ไฟฟ้า ด้วยปอร์เช่ คาเยนน์ (Cayenne) ขุมพลังไฟฟ้า 100%
ปอร์เช่ยังคงต้องการมุ่งเน้นไปยังแผนกลยุทธ์ด้านยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า หรือ electrification strategy ควบคู่ไปกับแผนกลยุทธ์อื่น ๆ ขั้นตอนการพัฒนา ปอร์เช่ มาคันน์ (Macan) รุ่นไฟฟ้า all-electric เป็นไปตามแผนงาน และจะพร้อมส่งมอบให้แก่ลูกค้าในปี 2567 สำหรับปอร์เช่ 718 รุ่นไฟฟ้า all-electric มีแผนเปิดตัวในช่วงกลางทศวรรษนี้ ในระยะกลางจะมีการเปิดตัวเฉพาะรถยนต์รุ่นไฟฟ้า all-electric ซึ่งจะตามมาด้วยปอร์เช่ คาเยนน์ (Cayenne) ขุมพลังไฟฟ้า 100% all-electric นับเป็นเจเนอเรชั่นที่ 4 ของรถสปอร์ต SUV รุ่นสำคัญที่มีส่วนนำพาปอร์เช่บรรลุเป้าหมายยอดส่งมอบรถยนต์ใหม่ โดยจะต้องเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า all-electric ในอัตราส่วนมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2573
นอกจากนี้ ปอร์เช่ยังมีแผนที่จะขยายขอบเขตของผลิตภัณฑ์ยานยนต์ให้หลากหลายยิ่งขึ้น เริ่มจากรถยนต์ SUV all-electric ซึ่งอยู่ในตลาดที่เหนือกว่า คาเยนน์ (Cayenne) รถยนต์รุ่นใหม่นี้มีแนวทางการออกแบบดีไซน์ที่นำเสนอสมรรถนะระดับสูง และฟังก์ชั่นการขับขี่อัตโนมัติ โดยยังคงไว้ซึ่งรูปทรงอันเป็นอมตะสไตล์ดั้งเดิมของรถสปอร์ตจากปอร์เช่ พร้อมส่งมอบประสบการณ์การขับขี่ด้วยภายในห้องโดยสารรูปแบบใหม่หมดจด รถยนต์รุ่นดังกล่าวจะได้รับการพัฒนาขึ้นภายใต้ platform SSP Sport โดยปอร์เช่ “เรายังคงเน้นย้ำ และเสริมสร้างความแข็งแกร่งในฐานะยนตรกรรมสปอร์ต ที่เปี่ยมไปด้วยความหรูหรา เรากำลังอยู่ระหว่างการสำรวจอัตราการเติบโตของส่วนแบ่งผลกำไรใน รถยนต์กลุ่มนี้ โดยเฉพาะในตลาดประเทศจีน และสหรัฐอเมริกา” Oliver Blume กล่าว
ปี 2566 ได้มีการเปิดตัว ปอร์เช่ คาเยนน์ (Cayenne) รุ่นปรับโฉมครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของปอร์เช่ การอัพเกรดรถสปอร์ต SUV เจเนอเรชั่นที่ 3 นี้ รวมถึงการพัฒนาขุมพลัง plug-in hybrids ให้มีระยะเดินทางที่เพิ่มขึ้น ต้องขอบคุณระบบช่วงล่างใหม่ ที่ให้สมรรถนะการขับขี่ที่สามารถรับมือได้กับทุกสถานการณ์ เปี่ยมไปด้วย ดุลยภาพทั้งประสิทธิภาพ บนเส้นทาง on-road ที่แฟนปอร์เช่คุ้นเคย ความสะดวกสบายสำหรับการโดยสาร ระยะทางไกล รวมทั้งศักยภาพการบุกตะลุยบนเส้นทางทุรกันดารสไตล์off-road
นอกจากนั้นปอร์เช่ยังมีเป้าหมายที่แน่วแน่ในการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบของแผนกลยุทธ์ดังกล่าว บริษัทกำลังดำเนินการเพื่อบรรลุโครงการ net carbon neutral ตลอดทั้ง value chain สำหรับกระบวนการ ผลิตรถยนต์ภายในปี 2573 ซึ่งรวมไปถึง net carbon neutral สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า BEV ที่จะตามมาในอนาคต (อ้างอิงจากสมมติฐานระยะทางรวม 200,000 กิโลเมตรต่อรถยนต์หนึ่งคัน) ในปี 2565 ที่ผ่านมา ปอร์เช่ได้ก่อตั้ง โรงงานนำร่องผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงสังเคราะห์ e-fuels ร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจในประเทศชิลี โดยเริ่มเดินสายการผลิตตั้งแต่เดือนธันวาคม “ด้วยโรงงานดังกล่าว เป็นการแสดงให้เห็นว่า น้ำมันเชื้อเพลิงสังเคราะห์ e-fuels สามารถผลิตขึ้นในเชิงของอุตสาหกรรมเต็มรูปแบบได้” Oliver Blume กล่าว
Sajjad Khan จะเข้ารับบทบาทในการกำกับดูแลส่วนงาน Car-IT ใหม่ ในปี 2566
ทีมงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของปอร์เช่ บรรลุข้อตกลงที่มีส่วนสำคัญต่อการยกระดับศักยภาพในปี 2566 โดย Sajjad Khan ซึ่งเป็นคณะกรรมการบริหารของผู้ผลิตรถสปอร์ตในสตุตการ์ต จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร และรับผิดชอบบริหารแผนกใหม่ล่าสุด Car-IT Executive Board “เรามีความยินดีอย่างยิ่ง กับการเข้ามามีส่วนร่วมของ Sajjad Khan ด้วยประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญอันยอดเยี่ยม จะนำมาซึ่งความสำเร็จของปอร์เช่ เราจะดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ร่วมกัน เพื่อประสิทธิภาพของหน่วยงาน Car-IT department และเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า” Oliver Blume กล่าว
ในปี 2565 ปอร์เช่ เดินหน้าไปอีกก้าวในด้านของ digitalisation ด้วยความเชี่ยวชาญของ Porsche Digital, MHP และ Porsche IT ร่วมมือกันสร้างสรรค์หน่วยงาน Digital Family unit ที่เต็มไปด้วยความคล่องตัวในการดำเนินงาน “ตอนนี้พวกเขาปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันใกล้ชิดยิ่งกว่าเดิม ส่งผลให้กระบวนการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้รับการควบคุมดูแลอย่างดีเยี่ยมยิ่งขึ้น และเรามีบุคลากรผู้ชำนาญงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมากกว่าเดิม ที่ปอร์เช่ นักพัฒนาซอฟแวร์ สามารถร่วมมือกับองค์กรเทคโนโลยีขนาดใหญ่จากทั่วทุกมุมโลก เพื่อสร้างสรรค์ยนตรกรรมที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ขับขี่ในทุกภูมิภาค” Lutz Meschke กล่าว
บอร์ดบริหาร นำเสนอเงินปันผล 1.01 ยูโร ต่อหุ้นบุริมสิทธิ
นับตั้งแต่ผลสำเร็จของการออก IPO หุ้นของปอร์เช่มีทิศทางในแนวบวก เพียง 81 วันหลังเปิดตัวในตลาดหุ้น ในฐานะส่วนหนึ่งของ German DAX stock market index ผ่านกระบวนการ fast entry ราคาหุ้นดังกล่าวเพิ่มจากราคาเสนอขายที่ 82.50 ยูโร เป็น 114 ยูโร (ข้อมูล ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566)? มูลค่าตามราคาตลาดอยู่ที่ 108 พันล้านยูโร? “โดยตัวเลขดังกล่าวสะท้อนถึงสถานภาพอันแข็งแกร่งของแบรนด์รถสปอร์ตที่มุ่งเน้นสมรรถนะ และความหรูหราที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ขณะเดียวกัน เรายังคงสามารถเลือกสรรเอาข้อได้เปรียบต่าง ๆ ที่ได้จากการเป็นส่วนหนึ่งของ Volkswagen Group มาใช้ บางสิ่งบางอย่างที่สร้างผลประโยชน์กับบรรดาผู้ถือหุ้นของเรา” Lutz Meschke อธิบาย ในปีงบประมาณ 2565 รายได้ต่อหุ้นสามัญอยู่ที่ 5.43 ยูโร และรายได้ต่อหุ้นบุริมสิทธิอยู่ที่ 5.44 ยูโร สำหรับปีงบประมาณ 2565 บอร์ดบริหารกำลังจะนำเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ประจำปี เพื่อจ่ายเงินปันผลเป็นจำนวนกว่า 911 ล้านยูโร เพิ่มเติมด้วยส่วนต่างของเงินปันผลสำหรับหุ้นบุริมสิทธิอีกถึงห้าล้านยูโร รวมเป็น 916 ล้านยูโร ซึ่งสอดคล้องกับมูลค่าเงินปันผล 1.00 ยูโร ต่อหุ้นสามัญ และ 1.01 ยูโร ต่อหุ้นบุริมสิทธิ
ปอร์เช่ยืนยันเป้าหมายองค์กร ระยะกลาง และระยะยาว
Porsche AG ยืนยันเป้าหมายขององค์กร ทั้งในระยะกลาง และระยะยาว “ในกรณีที่สภาวะเศรษฐกิจถดถอย ไม่ส่งผลกระทบรุนแรง เราคาดหมายถึงตัวเลขผลตอบแทนจากการดำเนินงานขายสำหรับปีงบประมาณ 2566 อยู่ในช่วงระหว่าง 17 ถึง 19 เปอร์เซ็นต์” Lutz Meschke กล่าว แนวทางนี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานของรายได้จากการขายที่ตัวเลขประมาณ 40 – 42 พันล้านยูโร Lutz Meschke เสริมปิดท้ายว่า “ในระยะยาว เราตั้งเป้าตัวเลขผลตอบแทนจากการดำเนินงานขายเอาไว้มากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์”
ปี 2566 ปอร์เช่มีวาระแห่งการเฉลิมฉลองที่สำคัญ 2 ประการ ได้แก่ วาระครบรอบ 75 ปี ของบริษัท และวาระครบรอบ 60 ปี ของรถสปอร์ตปอร์เช่ 911 ในเดือนมิถุนายน บริษัทผู้ผลิตรถสปอร์ตรายนี้ กำลังจะหวนกลับเข้าสู่สนามความเร็วสุดยิ่งใหญ่ รายการสุดคลาสสิก Le Mans 24 ชั่วโมง ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 100 นี่คืออีกครั้งที่ปอร์เช่จะลงสนามเพื่อไล่ล่าตำแหน่ง แชมเปี้ยน ด้วยรถแข่งปอร์เช่ 963 ที่พัฒนาขึ้นใหม่
Porsche AG Group | FY 2565 | FY 2564 | อัตราการเติบโต |
ยอดส่งมอบรถยนต์ | 309,884 | 301,915 | +2.6% |
รายได้จากการขาย | EUR 37,630 ล้าน | EUR 33,138 ล้าน | +13.6% |
ผลกำไรจากการดำเนินงาน | EUR 6,770 ล้าน | EUR 5,314 ล้าน | +27.4% |
ผลตอบแทนจากการดำเนินงานขาย | 18.0% | 16.0% | |
กระแสเงินสดสุทธิจากผลิตภัณฑ์ยานยนต์ | EUR 3,866 ล้าน | EUR 3,676 ล้าน | +5.2% |
1) ที่มาของข้อมูล: Frankfurt Stock Exchange https://www.boerse-frankfurt.de/equity/porsche-ag-vz
2) สมมุติฐานมูลค่าตามราคาตลาดหุ้นบุริมสิทธิ 455.5 ล้าน หุ้น (PAG911) ราคาหุ้นปิดที่ 114.0 ยูโร เมื่อวันที่ 28/02/2566 และหุ้นสามัญ 455.5 ล้านหุ้น (PAG356) พรีเมียมที่ 7.5 % (เปรียบเทียบกับ PAG911)
ติดตามข้อมูลข่าวสาร ภาพยนตร์ และภาพถ่ายเพิ่มเติมได้ที่ Porsche Newsroom: newsroom.porsche.com
ที่มา: เอเอเอส ออโต้ เซอร์วิส