เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 ยนตรกรรมสปอร์ตพลังงานไฟฟ้า ปอร์เช่ ไทคานน์ (Taycan) คันที่ 100,000 ได้แก่ ไทคานน์ เทอร์โบ เอส (Taycan Turbo S) สีน้ำเงิน Neptune Blue ได้เดินทางออกจากสายการผลิตตามเป้าหมายได้เป็นที่เรียบร้อย โดยจุดหมายดังกล่าวนี้เกิดขึ้นได้ภายในระยะเวลา 3 ปีภายหลังเปิดสายการผลิตไปครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน ปี 2019 ณ โรงงานหลักในเมือง Zuffenhausen โดยรถสปอร์ตปอร์เช่คันดังกล่าว จะส่งถึงมือเจ้าของผู้ครอบครองในสหราชอาณาจักร โดย Kevin Giek รองประธานกรรมการ ผู้กำกับดูแลส่วนงาน Model Line Taycan กล่าวว่า “เรามีความยินดีอย่างยิ่งที่สามารถบรรลุยอดการผลิตได้รวดเร็วที่สุดเป็นประวัติการณ์ ถึงแม้จะมีความท้าทายอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของการขาดแคลนชิ้นส่วน semiconductor และสถานการณ์โรคระบาด Covid ก็ตาม แต่ด้วยสมรรถนะอันยอดเยี่ยมของสปอร์ตพลังงานไฟฟ้า ปอร์เช่ ไทคานน์ (Taycan) เราสามารถปูเส้นทางความสำเร็จในการก้าวเข้าสู่ยุคของยานพาหนะพลังงานไฟฟ้าได้อย่างสวยงาม”
สำหรับ 3 ตลาดหลักสำหรับรถสปอร์ตพลังงานไฟฟ้าในปัจจุบัน ประกอบด้วย ประเทศสหรัฐอเมริกา, จีน และสหราชอาณาจักร /สาธารณรัฐ ไอร์แลนด์ โดยมีทางเลือกถึง 3 รูปแบบตัวถัง ได้แก่ ไทคานน์ สปอร์ต ซีดาน (Taycan sports sedan), ไทคานน์ ครอส ทัวริสโม (Taycan Cross Turismo) และ ไทคานน์ สปอร์ต ทัวริสโม (Taycan Sport Turismo) ในแต่ละรุ่นยังสามารถเลือกขุมพลังได้ถึง 5 ระดับความแรง รวมทั้งระบบขับเคลื่อนทั้ง 2 ล้อหลัง หรือขับเคลื่อน 4 ล้อ all-wheel drive ด้วยพิสัยการเดินทางสูงสุดกว่า 513 กิโลเมตร (ทดสอบตามมาตรฐาน WLTP) ส่งผลให้ ปอร์เช่ ไทคานน์ โฟร์เอส (Taycan 4S) เป็นรุ่นที่เดินทางได้ไกลที่สุด ในส่วนของรถสปอร์ตไฟฟ้าจากสายการผลิตปกติรุ่น ปอร์เช่ ไทคานน์ เทอร์โบ เอส (Taycan Turbo S) เป็นเจ้าของผู้ครองสถิติการวิ่งต่อรอบสนามแข่ง Nuerburgring Nordschleife ได้เร็วที่สุดด้วยระยะเวลา 7 นาที 33 วินาที
ดีไซน์ และเทคโนโลยี: Jean-Hubert Revolon กับปอร์เช่ ไทคานน์ โฟร์เอส (Taycan 4S)
ไม่เพียงยอดการผลิตที่ปอร์เช่ ไทคานน์ สามารถสร้างสถิติครบ 100,000 คัน ได้เร็วที่สุดแล้ว นั้น แต่รถคันนี้ยังสามารถสร้างตัวเลขอันน่าอัศจรรย์ในแง่ของการใช้งานดด้วยยอดการผลิตให้กับลูกค้าหลายรายให้สามารถเดินทางด้วยรถสปอร์ตพลังงานไฟฟ้าจาก ปอร์เช่ไปแล้วมากกว่า 100,000 กิโลเมตร สำหรับบุคคลสำคัญอย่าง Jean-Hubert Revolon ได้ขับปอร์เช่ ไทคานน์ โฟร์เอส (Taycan 4S) ของเขาไปเป็นระยะทางมากกว่า 188,119 กิโลเมตร นับตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคม ปี 2020 เจ้าของกิจการขนส่ง พักอาศัยอยู่แถบพื้นที่ Lyon และนำพารถปอร์เช่คู่ใจท่องไปแทบจะทุกประเทศที่มีอาณาเขตติดกับฝรั่งเศส โดยระยะทางวิ่งต่อวันสูงสุดคือ 1,200 กิโลเมตร
เหตุผลของเขาในการเลือกซื้อรถอยู่ที่งานออกแบบดีไซน์ “นวัตกรรมเทคโนโลยีต่าง ๆ ล้วนส่งผลลัพธ์ที่ดีต่อสภาพแวดล้อม อีกทั้งด้านงบประมาณของผมส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาลดลง” เขากล่าวย้ำ สำหรับจุดแข็งอื่น ๆ คือเรื่องของสมรรถนะ และระบบช่วงล่าง การยึดเกาะอย่างยอดเยี่ยม และความคล่องแคล่วปราดเปรียวอย่างที่สุด และมีเพียงปอร์เช่เท่านั้น ที่แสดงศักยภาพออกมาเปรียบเสมือนมายากลอย่างน่ามหัศจรรย์” ยิ่งไปกว่านั้น หนุ่มใหญ่วัย 43 ปี ยังการันตีอีกว่าในจำนวนรถยนต์หลายคันที่เค้าเป็นเจ้าของ ไม่มีคันไหนที่ทำให้เขามั่นใจได้เทียบเท่ากับรถสปอร์ตพลังงานไฟฟ้า ปอร์เช่ ไทคานน์ โฟร์เอส (Taycan 4S) ซึ่งนับตั้งแต่ใช้งานมา มีเพียงเซนเซอร์ระบบช่วงล่างเพียง 1 ตัวเท่านั้นที่จำเป็นต้องเปลี่ยน
แต่ไม่ใช่ทุกอย่างที่จะราบรื่นได้ตลอด Jean-Hubert Revolon ได้ย้อนระลึกถึงประสบการณ์การชาร์จที่แปลกประหลาด เมื่อเขาไม่สามารถใช้งานกับปอร์เช่ ไทคานน์ (Taycan) ของเขาได้ ซึ่งจอดอยู่ห่างจากสถานีชาร์จเพียงไม่กี่เมตร เป็นเพราะเหตุจากรั้วกั้นที่ขวางอยู่ โดยตัวสถานีถูกแยกออกจากจุดพักรถบน highway และไม่สามารถเข้าถึงได้จากทางตัวเมือง และระบบนำทางของเขาพาไปไม่ถูกจุด
การตัดสินใจเป็นเจ้าของอย่างง่ายดาย: Guillaume Takvorian กับปอร์เช่ ไทคานน์ โฟร์เอส (Taycan 4S) Guillaume Takvorian คืออีกหนึ่งผู้ใช้รถระยะทางสูง เมื่อเลขไมล์บนแผงหน้าปัดรถปอร์เช่ ไทคานน์ โฟร์เอส (Taycan 4S) ของเขาพุ่งขึ้นจนแตะ 6 หลัก เขาได้ทำการถ่ายรูปเก็บไว้ในโทรศัพท์มือถือ ขณะนี้รถปอร์เช่ของเขาวิ่งไปแล้วเป็นระยะทางกว่า 113,977 กิโลเมตร และตัวเลขดังกล่าวยังคงเพิ่มขึ้นต่อไป
เภสัชกรหนุ่มจาก Marseille รับเอารถสปอร์ต ซีดาน สีเทา Volcano Grey มาอยู่ในครอบครอง ตั้งแต่เมื่อเดือน มิถุนายน ปี 2020 “ผมได้รับการส่งมอบปอร์เช่ ไทคานน์ (Taycan) จากศูนย์บริการ Porsche Toulon หลังจากทดลองขับ ผมตัดสินใจเลือกรถรุ่นนี้ในทันที” เขากล่าวพร้อมใบหน้าเปื้อนยิ้ม โดยส่วนใหญ่เขาขับขี่ปอร์เช่ ไทคานน์ โฟร์เอส (Taycan 4S) ในแถบภาคใต้ของประเทศฝรั่งเศส เพื่อทำธุรกิจของเขา “ระยะทางไกลที่สุดคือการขับจาก Marseille ไปยัง Megeve ในเขต Savoy Alps ตลอดทางขึ้นเขากว่า 440 กิโลเมตร แน่นอนว่ามันต้องใช้พลังงานเพิ่มขึ้น ดังนั้นผมจึงต้องหยุดพักที่ศูนย์บริการ Porsche Grenoble และชาร์จพลังงานให้แก่ปอร์เช่ ไทคานน์ (Taycan) ของผม โดยไม่มีค่าใช้จ่าย” มีเพียงเสียงรบกวนจากพัดลมไฟฟ้าที่หนุ่มวัย 41 กล่าวถึง ซึ่งมันได้รับการเปลี่ยนภายใต้เงื่อนไขการรับประกันของโรงงาน นอกจากนั้นรถคันนี้ไม่เคยมีปัญหาอื่นใดตลอดการใช้งาน
“มันมีแต่ความสนุกยามที่ขับปอร์เช่ ไทคานน์ (Taycan)” Guillaume Takvorian กล่าว นอกเหนือจากพละกำลังมหาศาล เขายังเล็งเห็นถึงข้อดีอื่น ๆ ของรถคันนี้ “ในแง่ของงานดีไซน์ ไทคานน์ (Taycan) มีความเป็นปอร์เช่เต็มตัว และในทุกรายละเอียดมีเอกลักษณ์ของแบรนด์อัดแน่นอยู่เต็มพิกัด ถึงพร้อมด้วยความล้ำสมัย และคุณภาพการผลิตชั้นยอด” ในฐานะนักขับรถหนุ่มเลือดฝรั่งเศสยังประทับใจกับความเงียบที่ได้รับจากขุมพลังไฟฟ้า “ผมชื่นชอบเสียงคำรามจากปอร์เช่ 911 ทาร์กา (Targa) ของผม แต่ในการขับขี่ทางไกล ความเงียบเมื่อนั่งอยู่ในไทคานน์ (Taycan) คือความรื่นรมย์อย่างล้นเหลือ” รถปอร์เช่ของเขามักจะได้รับการชาร์จพลังงานจาก wallbox ที่บ้านในช่วงกลางคืน นอกจากนั้นในกรณีที่จำเป็น Takvorian ให้ความไว้วางใจเพียงการชาร์จจากสถานี fast charging stations
ทริปการเดินทางในยุโรปตะวันออก: Markus Kreutel กับปอร์เช่ ไทคานน์ เทอร์โบ (Taycan Turbo)
Markus Kreutel ต่างจากเจ้าของรถรายอื่น บ่อยครั้งที่เขาใช้บริการสถานี fast charging stations เพื่อเติมพลังงานให้แบตเตอรี่รถพลังงานไฟฟ้าของเขา และแทบไม่ต้องสงสัย มันช่วยให้เขาเดินทางได้สูงสุดถึง 1,500 กิโลเมตรต่อวัน นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2021 จนถึงเดือนสิงหาคม ปี 2022 พนักงานของปอร์เช่รายนี้ได้ใช้งานรถปอร์เช่ ไทคานน์ เทอร์โบ (Taycan Turbo) ซึ่งเป็นรถส่วนกลางของบริษัทด้วยระยะทางรวมทั้งสิ้นกว่า 134,911 กิโลเมตรโดย Kreutel มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าส่วนงาน Body Planning ของปอร์เช่ และด้วยหน้าที่รับผิดชอบในการดูแลผลิตตัวถัง body in white ในโรงงาน Zuffenhausen โรงงาน Leipzig และโรงงาน Bratislava รวมทั้งในฐานะ CEO ของ Porsche Toolmaking เขายังรับบทบาทดูแลหน่วยงานใน Schwarzenberg, Dubnica และ Horna Streda สิ่งที่ตามมาคือการเดินทางที่เกิดขึ้นเป็นประจำระหว่างสำนักงานใหญ่ของปอร์เช่ ที่ Zuffenhausen ไปยัง Slovakia หรือเทือกเขา Ore
นอกเหนือจากศักยภาพในการขับขี่ทางไกล สิ่งที่ได้รับคือสมรรถนะการยึดเกาะถนนภายใต้สภาพอากาศอันเลวร้าย รวมทั้งการบังคับควบคุมที่แม่นยำ Kreutel ยกตัวอย่างค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา ถือว่าต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับรถยนต์รุ่นอื่นที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน และเขายังชื่นชมคุณภาพการผลิต และความทนทานอีกด้วย ปอร์เช่ ไทคานน์ (Taycan) สีขาว ทำหน้าที่ของมันได้อย่างดีเยี่ยมสม่ำเสมอ ถึงแม้จะผ่านการใช้งานมามากกว่า 100,000 กิโลเมตรแล้ว ทั้งในแง่ของสภาพภายนอกที่มองเห็นได้ด้วยตา หรือในเชิงเทคนิคก็ตาม “แบตเตอรี่ยังคงอยู่ที่ 91 เปอร์เซ็นต์จากความจุเดิม” Kreutel อธิบาย และเป็นอีกครั้งที่พบเพียงปัญหาเล็กน้อย นั่นคือชิ้นส่วนพลาสติกครอบชุดกลอนฝาท้ายหลุดหลวม
การใช้สถานีบริการชาร์จพลังงาน ในอีกมุม มันคือบททดสอบความอดทนของ Kreutel “การเดินทางครั้งหนึ่งในโรมาเนีย ยังตราตรึงอยู่ในความทรงจำของผม ผมเดินทางถึงสถานีชาร์จแห่งแรกใน Timisoara ซึ่งไปถึงที่นั่นเวลา 2 นาฬิกา โดยไม่คาดคิดว่ามันใช้งานไม่ได้ สถานีต่อไปที่ Arad ตั้งอยู่ข้างถนนอันมืดสนิท ดังนั้นการขยายเครือข่ายให้บริการสถานีชาร์จพลังงานประสิทธิภาพสูง คือความหวังสูงสุดประการหนึ่งที่บรรดาผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าร้องขอ”
จุดสิ้นสุด และจุดเริ่มต้น: การทดสอบระยะยาว โดย ‘Auto Bild’ และ ‘auto motor und sport’
ไม่ต่างจากลูกค้า และบุคลากรของปอร์เช่ สื่อสารมวลชนสายรถยนต์คือส่วนหนึ่งของผู้ขับขี่ปอร์เช่ ไทคานน์ (Taycan) รถสปอร์ตพลังงานไฟฟ้า ไทคานน์ โฟร์เอส (Taycan 4S) สีน้ำเงิน Frozen Blue วิ่งครบ 100,000 กิโลเมตร จากการทดสอบความทนทาน โดยนิตยสารรถยนต์จากประเทศเยอรมนี ‘Auto Bild’ ขั้นตอนดังกล่าวเริ่มขึ้นในวันที่ 17 ตุลาคม 2020 การทดสอบระยะยาวมีกำหนดสิ้นสุดลงในเดือน พฤศจิกายน 2022 “สำหรับผม การทดสอบระยะยาวที่เราทำกับปอร์เช่ ไทคานน์ (Taycan) ได้พิสูจน์ให้เห็นอย่างน้อย 3 ประการ อันดับแรกคือรถคันนี้มีความน่าสนใจ และดึงดูดใจอย่างที่รถยนต์น้อยคันจะทำได้” Tom Drechsler บรรณาธิการของ ‘Auto Bild และ Auto’ จาก Bild Group แสดงความคิดเห็น “ประการที่สอง รถพังงานไฟฟ้าของปอร์เช่ มีความเป็นรถสปอร์ตจากปอร์เช่เต็มตัว นับตั้งแต่สัมผัสแรก และนั่นคือไทคานน์ (Taycan) ประการที่สาม การทดสอบของเราพิสูจน์ให้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า การขับขี่ทางไกลไม่ได้เป็นอุปสรรคกับรถยนต์ไฟฟ้าแต่อย่างใด”
ขณะเดียวกัน ทีมบรรณาธิการของ ‘auto motor und sport’ ได้ทำการทดสอบระยะยาวกับ ปอร์เช่ ไทคานน์ 4ครอส ทัวริสโม (Taycan 4Cross Turismo) สีเขียว Mamba Green ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปี เลขไมล์บนแผงหน้าปัดพุ่งขึ้นแตะ 6หลักด้วยการขับขี่ของพวกเขา มันคือครั้งแรกที่กลุ่มนักข่าวสายรถยนต์จากสตุ๊ทการ์ท ได้ทดสอบระยะยาวแบบเต็มพิกัดรวมกว่า 100,000 กิโลเมตร ด้วยรถไฟฟ้า “การได้ขับปอร์เช่ในการทดสอบแบบกลุ่มระยะยาว เป็นอะไรที่พิเศษ หลังบททดสอบหลากหลาย สูงสุดถึง 12 เดือน หรือบ่อยครั้งที่วิ่งเพียง 3-6 เดือน ตอนนี้เลขไมล์ทะลุหลัก 100,000 กิโลเมตรไปเป็นที่เรียบร้อย ภายในเวลา 2 ปีกับรถไฟฟ้าคันนี้” Michael Pfeiffer บรรณาธิการของ ‘auto motor und sport’ อธิบาย
“เรามีความมั่นใจว่ากระบวนการชาร์จ และอัตราการใช้พลังงานของรถพลังงานไฟฟ้าในปัจจุบัน ตอบโจทย์มาตรฐานคุณภาพที่เราวางเอาไว้ มันมีความสำคัญต่อคุณสมบัติพื้นฐานสำหรับการใช้งานยานพาหนะประจำวัน เรายังคงอยากรู้ถึงประสิทธิภาพของ ครอส ทัวริสโม (Cross Turismo) ในการใช้งานเป็นประจำทุกวัน” Jens Dralle หัวหน้าทีมทดสอบ และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี กล่าวเสริม
เฉลียวฉลาด สะอาด และไม่สิ้นเปลือง: สายการผลิตอัจฉริยะ
ไม่เพียงแต่ตัวรถปอร์เช่ ไทคานน์ (Taycan) เท่านั้น แต่สายการผลิตของรถรุ่นนี้ คืออีกหนึ่ง ศาสตร์ แห่ง ศิลปะ ซึ่งกำหนดบรรทัดฐานในเชิงของความยั่งยืน และโลกแห่งดิจิทัล โรงงานสุด high-tech ประกอบด้วยเทคโนโลยี และกระบวนการใหม่ล่าสุด ได้รับการสร้างขึ้นในเมือง Stuttgart-Zuffenhausen อาทิ ระบบปัญญาประดิษฐ์ Artificial intelligence (AI) ถูกนำมาใช้ในการผลิตอุปกรณ์ขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้า ต้องขอบคุณ ‘machine learning’ หรือระบบกล้องถ่ายภาพตรวจวัดคุณภาพ ขณะประทับหมายเลขลำดับการผลิต และประกอบระบบส่งกำลังเบื้องต้น ซึ่งมีความถูกต้องแม่นยำ เหนือกว่าระบบตรวจสอบ non-AI แบบเดิม นอกจากนั้นยังมีส่วนช่วยลดภาระของเจ้าหน้าที่ในสายการผลิต โดยพวกเขาจะใช้เวลาในการตรวจสอบน้อยลง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดจากแผนก resource-conserving processes and technology คือการทดสอบระบบ recuperation ด้วยหุ่นยนต์ ปอร์เช่ ไทคานน์ (Taycan) สามารถเปลี่ยนพลังงานจลน์ กลับมาเป็นพลังงานไฟฟ้าเมื่อรถเบรกชะลอความเร็ว และกักเก็บไว้ด้วยการทำงานของตัวเก็บประจุสมรรถนะสูง ในกรณีที่หุ่นยนต์เร่งเครื่อง พลังงานจากระบบ จะถูกดึงออกมาใช้
“ปอร์เช่ ไทคานน์ (Taycan) คือที่สุดแห่งนวัตกรรม และแน่นอนว่ารวมถึงสายการผลิตของ ไทคานน์ (Taycan) อีกด้วย” ข้างต้นคือคำกล่าวจาก Albrecht Reimold สมาชิกคณะกรรมการบริหาร ผู้กำกับดูแลส่วนงาน Production and Logistics ของปอร์เช่ “นับตั้งแต่เปิดสายการผลิตเมื่อปี 2019 เราใช้กระบวนการที่ปราศจากสารประกอบคาร์บอนอย่างเบ็ดเสร็จ ซึ่งตอนนี้เรานำวิธีการดังกล่าวไปใช้กับสายการผลิตรถสปอร์ตทุกรุ่นภายในโรงงาน Zuffenhausen และโรงงาน Leipzig สิ่งนี้ช่วยยกระดับพวกเราเข้าใกล้วิสัยทัศน์ ‘zero impact factory’ ความฉลาด สะอาด และไม่สิ้นเปลือง คือนิยามของสายการผลิตอันยั่งยืน”
ติดตามข้อมูลข่าวสาร ภาพยนตร์ และภาพถ่าย ได้ที่ Porsche Newsroom: newsroom.porsche.com
ที่มา: ปอร์เช่ ประเทศไทย