การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA จัดงาน “PEA VOLTAVERSE: ครอบคลุมทั่วไทย ชาร์จมั่นใจทุกเส้นทาง” ประกาศความเป็นผู้นำการให้บริการอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าชั้นนำระดับประเทศ เดินหน้าลุยส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ตั้งเป้าเปิดให้บริการสถานี PEA VOLTA 263 สถานี ภายในปี 2566 บนเส้นทางหลัก เส้นทางรอง และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ครอบคลุมพื้นที่ 75 จังหวัดทั่วประเทศ พร้อมแนะนำ New Features AUTOCHARGE ครั้งแรกในประเทศไทยกับทางเลือกที่สร้างความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ทำให้การชาร์จเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น รวมถึงนวัตกรรม PEA VOLTA DC Wallcharge เครื่องอัดประจุไฟฟ้ากระแสตรงขนาด 25 kW เพื่อให้บริการอัดประจุไฟฟ้าให้กับยานยนต์ไฟฟ้าทั้งในรูปแบบการใช้งานในครัวเรือนและในเชิงพาณิชย์ ที่ทำให้คุณสามารถเป็นเจ้าของสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น ซึ่งถือเป็นการมุ่งสู่การให้บริการกลุ่มลูกค้าใหม่หรือธุรกิจใหม่ พร้อมทั้งการให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าข้ามโครงข่าย (EV Roaming) เพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้บริการไปอีกขั้น โดยภายในงานได้รับเกียรติจากนายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธี
นายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เผยว่า “PEA VOLTA เป็น Digital Platform สำหรับบริหารจัดการการให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่ PEA พัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงผู้ประกอบการสถานีอัดประจุไฟฟ้าและบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ด้วยความมุ่งมั่น ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งได้ดำเนินตามร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมีเป้าหมายที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก พร้อมสร้างอุปทานเพื่อสนุบสนุนการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าและความพร้อมของปัจจัยสนับสนุนอย่างเป็นระบบ การจัดงานในครั้งนี้จึงเป็นการเตรียมความพร้อมการปรับรูปแบบเข้าสู่ Landscape ใหม่ และพลิกองค์กรสู่การเป็น Digital Utility ที่ครอบคลุมการดำเนินงานทุกด้าน โดยประกาศความเป็นผู้นำธุรกิจให้บริการด้านยานยนต์ไฟฟ้าชั้นนำระดับประเทศ”
“ปัจจุบันผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสามารถใช้งาน PEA VOLTA Charging Station และชำระค่าบริการผ่านแอปพลิเคชัน PEA VOLTA ซึ่งประกอบด้วยฟีเจอร์ต่างๆ ที่สะดวก ครบจบทุกเรื่องการชาร์จในแอปเดียว ซึ่งเรามีเป้าหมายและแผนงานในอนาคตเพื่อสนับสนุนการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็น การติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า PEA VOLTA เพิ่มเติม 190 สถานี บนเส้นทางหลัก เส้นทางรอง และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ครอบคลุมพื้นที่ 75 จังหวัดทั่วประเทศ โดยจะดำเนินการติดตั้งในระหว่างปี 2565 – 2566 พร้อมให้บริการทั้งสิ้น 263 สถานี ภายในปี 2566 รวมถึงแผนงานสถานีอัดประจุไฟฟ้า 4 ภาค เพื่อให้บริการเครื่องอัดประจุไฟฟ้าขนาดใหญ่แบบชาร์จเร็ว รับรองการอัดประจุไฟฟ้ายานยนต์ไฟฟ้าทุกขนาด ทั้งรถยนต์ไฟฟ้าทั่วไป รถบรรทุกไฟฟ้าและรถบัสไฟฟ้าขนาดใหญ่”
นายวิเชียร ปัญญาวานิชกุล รองผู้ว่าการวางแผนและพัฒนาระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวเสริมว่า “การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มุ่งมั่นพัฒนาการให้บริการต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดกับ New Features AUTOCHARGE ที่มาเสริมแกร่งให้แอปพลิเคชัน PEA VOLTA เป็นหนึ่งในทางเลือกที่มอบความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ช่วยลดขั้นตอนการทำงานในการอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าภายในสถานี ทำให้การชาร์จเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น ปัจจุบัน AUTOCHARGE เปิดให้บริการสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ณ สถานี PEA VOLTA ที่กำหนด พร้อมทั้งได้วางแผนทำการวิจัยเพื่อเพิ่มให้ AUTOCHARGE รองรับระบบการชาร์จอื่นๆ ที่มีในประเทศไทยในอนาคตต่อไป”
“นอกจากนี้ยังมี PEA VOLTA DC Wallcharge ที่เป็นเครื่องอัดประจุไฟฟ้ากระแสตรงขนาด 25 kW และสามารถเชื่อมต่อกับระบบบริหารจัดการ PEA VOLTA Platform เพื่อให้บริการอัดประจุไฟฟ้าให้กับ ยานยนต์ไฟฟ้าทั้งในรูปแบบการใช้งานในครัวเรือนและในเชิงพาณิชย์ ที่ทำให้คุณสามารถเป็นเจ้าของสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น ซึ่งถือเป็นการมุ่งสู่การให้บริการกลุ่มลูกค้าใหม่หรือธุรกิจใหม่ โดยสามารถติดตั้งในบริเวณสาธารณะ เช่น พื้นที่ส่วนกลางของหมู่บ้าน พื้นที่จอดรถในห้างสรรพสินค้า โรงงานอุตสาหกรรม หรือ อาคารธุรกิจขนาดเล็ก เป็นต้น”
“อีกทั้งมีการเตรียมความพร้อมให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าข้ามโครงข่าย (EV Roaming) ให้สามารถนำไปใช้งานกับ EV Platform ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนรายอื่นได้ โดยผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนใช้งานแอปพลิเคชันจำนวนมากอีกด้วย” รองผู้ว่าการฯ กล่าวปิดท้าย
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้กำหนดมาตรการเพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐในการขับเคลื่อนเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า 5 ด้าน ซึ่งรวมถึง การติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น โดยมีการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบชาร์จเร็ว บนเส้นทางหลัก ทุกๆ ประมาณ 100 กิโลเมตร ปัจจุบัน เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์แล้ว จำนวน 73 สถานี ครอบคลุมพื้นที่ 42 จังหวัด และจะติดตั้งเพิ่มเติมอีก รวมเปิดให้บริการ 263 สถานีภายในปี 2566
นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรส่วนต่างๆ ในการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ บริษัท อีโวลท์ เทคโนโลยี จำกัด เรื่อง “การเชื่อมโยงโครงข่ายแอปพลิเคชันการจัดการสถานีอัดประจุไฟฟ้า” เพื่อร่วมกันพัฒนาการเชื่อมโยงโครงข่ายแอปพลิเคชันการจัดการสถานีอัดประจุไฟฟ้า ของผู้ให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าของประเทศไทย เพื่อรองรับการใช้งานข้ามผู้ให้บริการ ตลอดจนส่งเสริม สนับสนุน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ให้ได้รับการให้บริการที่เป็นมาตรฐานสากล รวมทั้งปรับปรุง ขั้นตอน กระบวนการ การให้บริการ ระหว่างผู้เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการเชื่อมโยงโครงข่ายแอพพลิเคชั่นการจัดการสถานีอัดประจุไฟฟ้า
อีกทั้งยังมีการร่วมลงบันทึกความเข้าใจระหว่าง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย เรื่อง “INNOVATION DEVELOPMENT FOR ELECTRIC VEHICLE USE IN THAILAND” เพื่อพัฒนาการให้บริการการอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อสร้างความสะดวกสบาย ปลอดภัย และตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย แลกเปลี่ยนข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อรองรับการพัฒนาการให้บริการอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย รวมถึงสร้างพันธมิตรที่ดีเพื่อพัฒนา Eco System ที่เหมาะสมให้รองรับผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยมีบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยที่ร่วมลงนามในครั้งนี้ ได้แก่ บริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟค เจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เนต้า ออโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด, บริษัท บีเอ็มดับยู (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท วอลโว่ คาร์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท สตรอม (ไทยแลนด์) จำกัด, บริษัท สยาม แอดวานซ์ เทคโนโลยี่ รีเลชั่นชิป จำกัด, บริษัท อินช์เคป (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เอเอเอส ออโต้ เซอร์วิส จำกัด, บริษัท เอ็มจี เซลล์ (ประเทศไทย) จำกัด
ติดตามความเคลื่อนไหวและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เพจเฟซบุ๊ก PEA VOLTA หรือ www.facebook.com/peavolta และ 1129 PEA Contact Center
ที่มา: ทริปเปิล เอท ไอเดียส์