อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายในกลุ่ม S-Curve ที่ไทยต้องการขับเคลื่อนไปพร้อมกับการรักษาสถานะเป็นฐานการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนสำคัญในภูมิภาคตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยรัฐบาลมีเป้าหมายผลิตยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของปริมาณการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในแต่ละปี หรือ 7.5 แสนคัน ภายในปี พ.ศ. 2573
มาตรการส่งเสริมการลงทุนผลิตยานพาหนะไฟฟ้าเป็นเครื่องมือหนึ่งในการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายการผลิตดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ จึงได้เปิดให้การส่งเสริมการลงทุนผลิตยานพาหนะไฟฟ้า ตั้งแต่ปี 2560 และได้ปรับปรุงนโยบายให้เข้ากับสถานการณ์มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ซึ่งปัจจุบันมีตั้งแต่ การประกอบยานพาหนะไฟฟ้าทุกประเภท ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) แบบไฮบริดผสมผสาน (PHEV) และแบบผสมเสียบปลั๊ก (HEV) จักรยานยนต์ไฟฟ้า สามล้อไฟฟ้า รถโดยสารไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า เรือไฟฟ้า รวมถึงล่าสุดที่ประชุมบอร์ดบีโอไอเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2564 ได้เพิ่มเติมกิจการรถจักรยานไฟฟ้า (ELECTRIC BICYCLE หรือ E-BIKE) เข้ามาให้การส่งเสริมด้วย เนื่องจากปัจจุบันการเดินทางด้วยรถจักรยานไฟฟ้าเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้น โดยคาดว่ามูลค่าตลาดรถจักรยานไฟฟ้าทั่วโลกจะขยายตัวจากประมาณ 24,300 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2564 เป็น 42,270 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2569 สำหรับประเทศไทยที่มีพื้นฐานอุตสาหกรรมสนับสนุนสามารถรองรับการผลิตรถจักรยานไฟฟ้าได้ดีอยู่แล้ว และการผลิตรถจักรยานไฟฟ้ายังจะช่วยเพิ่มขนาดของตลาดแบตเตอรี่ในประเทศ เปิดโอกาสให้อุตสาหกรรมแบตเตอรี่เพื่อยานยนต์ไฟฟ้าและเพื่อการกักเก็บพลังงานไฟฟ้าของไทยเติบโตได้เร็วขึ้น จึงน่าจะเป็นโอกาสดีที่จะดึงผู้ผลิตรถจักรยานไฟฟ้าที่ต้องการหาฐานการผลิตใหม่มายังประเทศไทย
นอกจากนี้ บีโอไอยังให้การส่งเสริมใน กิจการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับยานพาหนะไฟฟ้า โดยได้มีการปรับปรุงเพิ่มประเภทชิ้นส่วนที่สำคัญ เช่น High Voltage Harness, Reduction Gear, Battery Cooling System, Regenerative Braking System เป็นต้น ตลอดจนการให้ส่งเสริมที่ครอบคลุมถึงกิจการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) ซึ่งช่วยสร้าง Ecosystem ที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงยานยนต์ไฟฟ้าได้ง่ายดาย และมีความเชื่อมั่นในการใช้งานมากขึ้น
อย่างไรก็ดี เพื่อให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าสามารถแข่งขันได้ การผลิตต้องมีความยืดหยุ่น แนวคิดการผลิตแพลตฟอร์มร่วม (Sharing platform) ที่สามารถนำไปใช้งานร่วมกันได้ระหว่างยานยนต์ไฟฟ้าหลายแบรนด์และรุ่นที่แตกต่างกันบีโอไอจึงปรับปรุงกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ให้ครอบคลุมถึง ‘แพลตฟอร์มสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่’ ด้วย ซึ่งจะทำให้บริษัทสตาร์ทอัพมีโอกาสเข้ามาเป็นผู้พัฒนายานยนต์ไฟฟ้าได้อีกด้วยนอกเหนือจากจำกัดอยู่เฉพาะค่ายรถยนต์รายใหญ่ ซึ่งมูลค่าแพลตฟอร์ม (รวมแบตเตอรี่) สูงถึงร้อยละ 74 ของมูลค่ายานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ การผลิตลักษณะแพลตฟอร์มร่วมจะช่วยลดปริมาณวัตถุดิบที่ต้องใช้ ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่าย ก่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) อันจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลง เกิดการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ เข้าสู่ตลาด
สำหรับแพลตฟอร์มฯ ที่จะได้รับส่งเสริมการลงทุนต้องมีส่วนประกอบสำคัญ 3 ส่วน คือ ระบบกักเก็บพลังงาน หรือ Energy Storage System, Charging Module และ Front & Rear Axle Module จากมาตรการส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มยานพาหนะไฟฟ้านี้จะเห็นได้ว่า บีโอไอให้ความสำคัญกับการปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันต่อบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและความนิยมของผู้บริโภคที่มุ่งสู่การใช้ยานพาหนะพลังงานสะอาด อุตสาหกรรมยานพาหนะไฟฟ้าจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันซึ่งมาตรการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอจะเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อน Ecosystemของยานพาหนะไฟฟ้าให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม สำหรับผู้สนใจสามารถศึกษาเรื่องสิทธิและประโยชน์บีโอไอในกิจการต่างๆ ของกลุ่มการผลิตยานพาหนะไฟฟ้าได้ที่ www.boi.go.th สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทรศัพท์ 0 2553 8111 กด 3
ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน